หลังจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เปิดรับชำระค่าโดยสารผ่านระบบ EMV Contactless กับบัตรเครดิตทุกธนาคารไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ได้เริ่มทดลองกับบัตรเดบิต ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไปบ้างแล้ว
โดยตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้ถือบัตรเดบิตกรุงไทย VISA และ MasterCard ที่มีสัญลักษณ์ Contactless และมีเงินในบัญชีเพียงพอ สามารถแตะเข้าระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง แทนบัตรโดยสารและเหรียญโดยสาร MRT ได้ทันที สำหรับธนาคารอื่น ยังไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาของธนาคารผู้ออกบัตร ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับการแตะจ่ายขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ระบบจะไม่หักค่าโดยสารทันที แต่จะนำค่าโดยสารแต่ละเที่ยวในวันนั้นมารวมกัน แล้วหักเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรในครั้งเดียว หลังเวลา 02.00 น. ของวันรุ่งขึ้น สามารถตรวจสอบรายการได้จากแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ระบุรายการ "จ่ายค่าสินค้า/บริการที่เครื่อง EDC" ระบุชื่อร้านค้าว่า "MRT-BEM"
นอกจากนี้ สามารถตรวจสอบรายการเดินทางย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ mangmoomemv.com โดยนำข้อมูลบัตรเดบิตกรุงไทย ที่นำมาใช้เดินทางไปแล้ว ลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น สามารถดูรายการย้อนหลังได้สูงสุด 60 วัน
คำแนะนำสำหรับการใช้บัตร EMV Contactless เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง คือ หยิบบัตรที่มีสัญลักษณ์ EMV Contactless ออกจากกระเป๋าก่อนใช้งานทุกครั้ง เพื่อป้องกันการตัดเงินผิดบัตร และแตะบัตรเข้า-ออกที่ประตูอัตโนมัติด้วยบัตรใบเดียวกันทุกครั้ง ต่อ 1 เที่ยวการเดินทาง โปรดระวังหากใช้บัตรผิดใบ จะถูกปรับอัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด
ในกรณีที่เงินในบัญชีไม่พอจ่าย สามารถแตะบัตรออกที่ประตูอัตโนมัติเพื่อออกจากระบบได้ 1 ครั้ง หลังจากนั้นเมื่อนำกลับมาใช้งานครั้งถัดไป ระบบจะปฏิเสธการใช้บัตรใบดังกล่าว ระบบจะเรียกเก็บค่าโดยสารที่ค้างชำระอีกครั้งในวันที่ 1, 3, 7 และ 14 นับจากวันเดินทาง หากมีเงินในบัญชีและระบบหักค่าโดยสารค้างชำระสำเร็จ สามารถนำบัตรมาใช้เดินทางได้ในวันถัดไป
อย่างไรก็ตาม บัตร EMV Contactless ใช้อัตราค่าโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป โดยไม่สามารถเติมเที่ยวโดยสารได้ ต้องใช้บัตร MRT Card หรือ MRT Plus และ Park & Ride ของระบบรถไฟฟ้า MRT เช่นเดิม ส่วนการรับส่วนลดค่าบริการจอดรถยนต์ที่อาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ให้นำบัตรเดบิตกรุงไทยพร้อมด้วยบัตรจอดรถ ไปยื่นขอใบยืนยันที่ห้องออกบัตรโดยสาร
รายละเอียดเพิ่มเติมการใช้บัตร EMV Contactless คลิก https://metro.bemplc.co.th/EMV-Contactless
ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้ออกบัตรเดบิตเพื่อตอบโจทย์ทุกการใช้งานในบัตรเดียว ทั้งบัตรเดบิตแบบมาตรฐาน ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท และบัตรเดบิตมีความคุ้มครองประกันภัยส่วนบุคคลหลายแบบ ค่าธรรมเนียมรายปีเริ่มต้นที่ 50 บาทต่อปี ซึ่งสาขาในกรุงเทพฯ พบว่ามีบัตรเดบิตลายพิเศษ เช่น บัตรเดบิต TRANXIT, บัตรเดบิต METRO CARD และบัตรเดบิตคลองโอ่งอ่าง
สามารถศึกษาข้อมูลแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ที่เว็บไซต์ https://krungthai.com/th/personal/cards/debit-card
ปัจจุบัน บัตรเดบิตกรุงไทยที่มีสัญลักษณ์ Contactless ใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง รถประจำทาง ขสมก. ไทยสมายล์บัส (เส้นทางที่ร่วมรายการ) เรือ Mine Smart Ferry และยังมีโปรโมชันเฉพาะบัตรเดบิตกรุงไทย TRANXIT แตะจ่ายค่าโดยสาร 10 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน รับเงินคืน 20 บาทต่อเดือน ถึง 31 ธันวาคม 2565
สำหรับคนใช้รถยนต์ สามารถนำบัตรเดบิตกรุงไทยที่มีสัญลักษณ์ Contactless ชำระค่าผ่านทางได้ที่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษประจิมรัถยา (ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) โดยสังเกตช่องเก็บเงินที่มีเครื่อง EDC สีน้ำเงินติดอยู่ที่ตู้เก็บเงิน
ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะไม่สามารถแตะจ่ายได้ แต่สามารถนำข้อมูลบัตรเดบิตกรุงไทย มาผูกกับบัญชี Rabbit LINE Pay และบัตรแรบบิทเพื่อแตะบัตรแรบบิทเข้าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วให้ระบบหักเงินจากบัญชีที่ผูกกับบัตรเดบิตกรุงไทยได้ เช่นเดียวกับระบบชำระค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M Flow) สามารถนำข้อมูลบัตรเดบิตกรุงไทย มาลงทะเบียนเพื่อใช้ผ่านทางได้เช่นกัน
ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของสังคมไร้เงินสด ที่ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเดบิตเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยไม่ต้องพกบัตรโดยสารหลายใบ แม้ระบบขนส่งมวลชนบางแห่งยังคงต้องใช้เงินสดหรือบัตรโดยสารเฉพาะก็ตาม อีกทั้งสนับสนุนนโยบายระบบตั๋วร่วมในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)