xs
xsm
sm
md
lg

HUAWEI เปิดวิสัยทัศน์ พาเน็ตมือถือ-บรอดแบนด์สู่ยุค 5.5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มให้บริการ 5G มากว่า 3 ปี และมีอัตราการเติบโตของการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่โอเปอเรเตอร์เร่งขยายสถานีฐานและเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการเติบโตของการใช้งาน 5G จากข้อมูลของหัวเว่ย ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่า 230 รายทั่วโลก เริ่มให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ มีสถานีฐานให้บริการกว่า 3 ล้านแห่ง และมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 700 ล้านราย

การพัฒนาของเครือข่าย 5G ในเวลานี้กำลังมุ่งสู่การกำหนดมาตรฐานใหม่ของเทคโนโลยี 5.5G หรือ 5G Advanced เพื่อดึงศักยภาพของ 5G ให้นำไปใช้เพิ่มมูลค่าให้สูงที่สุดภายใต้ 4 ประเด็นสำคัญของการเป็น 5.5G ซึ่งประกอบด้วย 1.อัตราการดาวน์โหลดที่จะสูงขึ้นเป็นระดับ 10 Gbps จากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ที่ราว 1-2 Gbps 2.ความเร็วในการอัปโหลดที่ 1 Gbps 3.รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ กว่า 1 แสนล้านชิ้น และ 4.เชื่อมต่อกับคลาวด์อัจฉริยะ (Native Intelligence)

เคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย กล่าวว่า การมาของ 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ให้บริการ ทั้งการขยายรูปแบบการให้บริการสู่บริการดิจิทัลทางด้านต่างๆ เพื่อเข้าไปร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีไอซีทีไปใช้งาน

“ที่ผ่านมา รายได้หลักของโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการเครือข่ายจะมาจากการให้บริการเสียงและดาต้า แต่เมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการใช้งานวิดีโอความละเอียดสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ใช้งาน 5G ที่มีค่าความหน่วงต่ำทำให้ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อผู้ใช้เพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือมากกว่า 20 GB ต่อเดือน และในขณะเดียวกัน ช่วยเพิ่มอัตราเฉลี่ยค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (ARPU) 20-40% ซึ่งเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ด้านการเชื่อมต่อของโอเปอเรเตอร์ให้เติบโตได้

เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วระดับ 10 Gbps จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 1% ในช่วงปี 2568
นอกจากนี้ การนำ 5G เข้าไปให้บริการในภาคอุตสาหกรรมยังเป็นอีกแนวทางที่เสริมสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ผู้ให้บริการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอย่างน้ำมันและก๊าซ การผลิต และการขนส่ง โดยจากข้อมูลการให้บริการในประเทศจีน โครงการ 5G ในภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้มากขึ้นถึง 10 เท่า จากการประยุกต์ใช้ข้อมูล และบริการไอซีทีแบบครบวงจร

***5.5G ปลดล็อกศักยภาพ สร้างโอกาสทางธุรกิจ

ภายในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2567 การกำหนดมาตรฐาน 5.5G ของกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (3GPP) จะมีความชัดเจนมากขึ้นจากการเผยแพร่ข้อมูล Release 18 ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย 5.5G มากขึ้น 10 เท่า และในอนาคตจะมีการปรับปรุงมาตรฐานของ 5.5G ต่อไปใน Release 19 ให้รองรับบริการ และรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีที หัวเว่ย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน 5.5G นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับ 5 ปัจจัย ไล่ตั้งแต่ 1.การกำหนดมาตรฐานการใช้งาน 2.จำนวนคลื่นความถี่ 3.อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 4.การทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอีโคซิสเต็ม และ 5.การประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ในการให้บริการ 5.5G คลื่นความถี่หลักที่จะถูกนำมาใช้งานจะอยู่ในย่านของ mmWave ที่มีแบนด์วิดท์จำนวนมาก และโอเปอเรเตอร์ที่จะให้บริการต้องมีคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 800 MHz เพื่อให้สามารถทำความเร็วในการใช้งานได้ในระดับ 10 Gbps”

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำคลื่นความถี่ช่วง 6 GHz มาใช้เป็นอีกหนึ่งแบนด์วิดท์ในการให้บริการ 5.5G ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นมาให้ใช้งาน

อุปกรณ์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย 5.5G มากขึ้น 10 เท่า
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการพร้อม สิ่งที่ตามมาคือการผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็ม และการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ อย่างการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์จำนวนมากเข้าหากัน เพื่อเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร การใช้งานยานพาหนะอัจฉริยะ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันเพื่อผลักดันการพัฒนาให้นำ 5.5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลเสริมว่า การให้บริการ 5G ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะสามารถเลือกใช้งานได้เพียง 1 จาก 3 จุดเด่นของการให้บริการ 5G ที่ประกอบด้วย 1.อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Enhanced Mobile Broadband : eMBB) 2.ความหน่วงต่ำ (Ultra-Reliable Low-Latency Communication : URLLC) และ 3.ใช้พลังงานต่ำ (Massive Machine Type 

Communications : mMTC) ทำให้ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์ต้องมีการทำ Network Slicing เพื่อออกแบบให้เครือข่ายเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ แต่ในอนาคตเมื่อ 5.5G หรือ 5G Advanced เข้ามาจะเปิดโอกาสให้สามารถใช้งาน 2 จุดเด่นพร้อมกันได้

“ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีการนำ mMTC ไปใช้งานร่วมกับ eMBB จะเปิดโอกาสให้แมชชีนสามารถอัปโหลดข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในแง่ของแมชชีนวิชัน หรือถ้านำ URLLC ไปทำงานร่วมกับ eMBB ที่ส่งข้อมูลได้รวดเร็ว ความหน่วงต่ำ ที่นำไปใช้กับโฮโลแกรม จนถึงการจับคู่ระหว่าง mMTC กับ URLLC จะช่วยให้เซ็นเซอร์สามารถส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์”

โอเปอเรเตอร์ที่จะให้บริการ 5.5G ต้องมีคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 800 MHz
สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือบรรดาผู้ให้บริการเครือข่าย 5G กำลังเร่งศึกษา และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เพื่อให้ในวันที่มาตรฐาน 5G Advanced ประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการก็จะพร้อมให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่มีนัยสำคัญแก่โอเปอเรเตอร์อย่างแน่นอน

***อัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จาก FTTR


นอกจากการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายไร้สายบน 5.5G แล้ว อีกความเคลื่อนไหวในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างการเชื่อมต่อไฟเบอร์บรอดแบนด์ นับเป็นอีกเทคโนโลยีที่ผู้ให้บริการเริ่มศึกษาถึงการให้บริการในยุคต่อไป เพื่อรับกับอนาคตของการเชื่อมต่อที่จะใช้งานแบนด์วิดท์ และปริมาณการเชื่อมต่อที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การมาของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G นั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้เหมือนในฝั่งของเทคโนโลยี 5.5G บนมือถือ เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบนอัลตราบรอดแบนด์ มีความซับซ้อน และใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมของกลุ่มผู้ใช้งานมากกว่า

เดวิด หวัง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในฝั่งของบรอดแบนด์น่าจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงปี 2573 ที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะถูกพัฒนาให้รองรับความเร็วสูงถึงระดับ 10 Gbps จากที่ปัจจุบันให้บริการอยู่ราว 1 Gbps ขณะเดียวกัน ยังมีพัฒนาการในแง่ของอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่าย WiFi ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ราว 5-20 เครื่องสู่การเชื่อมต่อระดับ 150-200 เครื่องในอนาคตอันใกล้นี้ จากการมาของบรรดาอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อภายในสมาร์ทโฮม

ปี 2573 เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะถูกพัฒนาให้รองรับความเร็วสูงถึงระดับ 10 Gbps
ดังนั้น การมาของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ภายในปี 2573 จะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถให้บริการได้ที่ความเร็ว 10 Gbps พร้อมมีระบบอัจฉริยะมาช่วยในการดูแลประสบการณ์ใช้งานลูกค้า จากความต้องการแบนด์วิดท์ในการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในภาคอุตสาหกรรมที่อินเทอร์เน็ตจะยิ่งทวีความสำคัญโดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมที่ต้องการโครงข่ายที่รองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงกว่า 10 Gbps ที่มีความหน่วงต่ำกว่า 1 มิลลิวินาที เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลบนมัลติคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว

“การมาของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จะเป็นก้าวสำคัญในการเข้าสู่โลกอัจฉริยะ ดังนั้นผู้เล่นในอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรที่กำหนดมาตรฐานการใช้งาน หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ต้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน”

***FTTR เน็ต 1 Gbps สู่ทุกพื้นที่ภายในบ้านจุดเริ่มต้นบรอดแบนด์ 5.5G


ก่อนที่บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะก้าวเข้าสู่โลกของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ยังมีเทคโนโลยีที่กำลังเตรียมความพร้อม และคาดว่าจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในปี 2566 ที่จะถึงนี้คือการเดินเส้นใยแก้วนำแสงสู่ห้องของผู้ใช้งาน (Fiber to the room : FTTR)

โดยทางหัวเว่ยให้ข้อมูลถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วโลกในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาว่า มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ราว 1% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระดับ 1 Gbps ได้ และสัดส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นราว 26% ภายในปี 2568 ก่อนขึ้นมามีสัดส่วนหลักในตลาดราว 55% ในช่วงปี 2573

ในขณะที่เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วระดับ 10 Gbps จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 1% ในช่วงปี 2568 และเติบโตมาเป็น 23% ในช่วงปี 2573 จากรูปแบบการเข้าถึงคอนเทนต์ที่คาดการณ์ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน สู่ยุคของเมตาเวิร์ส หรือโลกเสมือนจริงที่ต้องใช้แบนด์วิดท์ปริมาณมหาศาลในการเชื่อมต่อ

ในช่วงปี 2563 จำนวนผู้ใช้งานราว 1% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระดับ 1 Gbps ได้
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอสให้ข้อมูลถึงมาตรฐาน F5G และ Net5G ที่ถือเป็นมาตรฐานกลางของการให้บริการบรอดแบนด์ในปัจจุบันว่า ความเร็วเฉลี่ยในการใช้งานทั่วบ้านจะอยู่ที่ราว 300 Mbps รวมถึงระบบในการดูแลรักษาเครือข่ายอัตโนมัติต่างๆ

ส่วนในอนาคตเมื่อใช้บริการบนมาตรฐาน F5.5G และ Net5.5G ผู้ให้บริการจะต้องสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 1 Gbps ได้เสถียรทั่วทุกพื้นที่ภายในบ้าน พร้อมการลงทุนระบบอัตโนมัติที่จะคอยช่วยตรวจสอบสถานะของการใช้งาน จนถึงการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว

จากมาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การที่เอไอเอส ซึ่งกำลังปรับตัวจากการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสู่ Cognitive Telco ที่มีการนำระบบอัจฉริยะเข้ามาบริหารจัดการเครือข่ายจะทำให้เอไอเอส มีความพร้อมสำหรับมาตรฐานใหม่ของบรอดแบนด์ที่จะเปิดให้ใช้งานในอนาคตนี้ด้วย

เบื้องต้น หัวเว่ยได้ทำการจัดแสดงเทคโนโลยี FTTR ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไฟเบอร์บรอดแบนด์ความเร็วสูงเข้าไปใช้งานภายในครัวเรือน ด้วยการนำเส้นใยแก้วนำแสงแบบโปร่งใสมาใช้งาน ทำให้สามารถติดตั้งภายในบ้านได้อย่างรวด จนถึงการนำอุปกรณ์ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ SMEs จนถึงองค์กรธุรกิจที่ต้องการเครือข่ายแบบไพรเวทใช้งาน โดยคาดว่าภายในช่วงปีหน้านวัตกรรมเส้นใยแก้วนำแสงแบบโปร่งใสจะกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการให้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้ ARPU ของการใช้งานสูงขึ้นท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น