xs
xsm
sm
md
lg

JWD ควบรวม SCGL เปลี่ยนชื่อเป็น SJWD ตั้งเป้ารายได้โต 10-12% 5 ปีต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



JWD ชี้ปิดดีลรวมกิจการ SCGL เปลี่ยนชื่อย่อในตลาดหุ้นเป็น SJWD ก้าวขึ้นแท่นสู่ผู้นำด้านบริการโลจิสติกส์และซัปพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่สุดในอาเซียน พร้อมตั้งเป้ารายได้หลังรวมกิจการโต 10-12% ต่อเนื่อง 5 ปี

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (JWD) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าการรวมกิจการกับ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SCGL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการรวมกิจการระหว่าง JWD กับ SCGL โดยการทำธุรกรรมดังกล่าว JWD จะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 791,020,363 ล้านหุ้น และเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCGL ที่ราคาหุ้นละ 24.02 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นสามัญทั้งหมดของ SCGL โดยวิธีแลกหุ้น (Share Swap) โดยภายหลังการแลกหุ้นแล้วเสร็จผู้ถือหุ้นเดิมของ SCGL จะเข้ามาถือหุ้นใน JWD ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 43.7 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JWD ภายหลังการเข้าทำธุรกรรม คาดว่าการทำธุรกรรมการรวมกิจการของ SCGL และ JWD จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2566 

ภายหลังการรวมกิจการกับ SCGL แล้ว หลังจากนั้น JWD จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยใช้ตัวย่อ “SJWD” ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะรับโอนกิจการทั้งหมด Entire Business Transfer (EBT) ของ SCGL ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4/2566


อย่างไรก็ตาม การรวมกิจการครั้งนี้ เป็นการผสานจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน ด้านความเป็นผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าเฉพาะทางของ JWD เช่น สินค้าควบคุมอุณหภูมิ สินค้าอันตราย และรถยนต์ เป็นต้น และด้านความชำนาญสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมของ SCC เช่น เหล็กและวัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งบริการคลังสินค้า ซัปพลายเชน การขนส่งสินค้าแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมถึงโอกาสในการสร้าง synergy เพิ่มเติมในอนาคต

นายชวนินทร์กล่าวว่า บริษัทคาดว่ารายได้ภายหลังการควบรวมจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 10-12% ต่อเนื่องไป 5 ปี โดยในปี 2564 SCGL มีรายได้รวมอยู่ที่ 20,447 ล้านบาท ขณะที่ JWD มีรายได้รวม 5,101 ล้านบาท เมื่อรวมกันจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 25,548 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ SCGL มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,533 ล้านบาท ขณะที่ JWD มีรายได้รวม 2,738 ล้านบาท เมื่อรวมกันจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 14,270 ล้านบาท


เนื่องจากฐานลูกค้าของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทับซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการรวมกิจการดังกล่าวสามารถสร้างการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าของทั้งสองฝ่าย และการได้ฐานลูกค้ารายใหญ่ภายในเครือ SCG ช่วยรักษาการเติบโตและลดความผันผวนของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ช่วยลดต้นทุนและการบริหาร ซึ่งการรวมกิจการยังทำให้ SCGJWD ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัปพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนทันที ส่งผลให้ได้ประโยชน์จากขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น การรวมกันของหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ รวมถึงสามารถส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับโอกาสทางธุรกิจที่เราวางแผนร่วมกันมีทั้งหมด 5 ส่วน (1) การเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิมของ SCGL และ JWD เพื่อเพิ่มรายได้และการประหยัดต้นทุน (2) การสร้างมูลค่าเพิ่มในบริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ เช่น คลังห้องเย็น ลานจอดรถยนต์ คลังสินค้าอันตราย การขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นต้น (3) การเชื่อมต่อฐานการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อ โดยนำ Business Model ที่ประสบความสำเร็จในไทยไปสร้างการเติบโตในต่างประเทศ (4) ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านบริการ ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า, โลจิสติกส์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, การขนส่งแบบด่วน และ (5) พัฒนาขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องในธุรกิจใหม่ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม บริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น


ด้านนายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ SCGL กล่าวว่า การรวมกิจการกับ JWD ถือเป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญของ 2 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมโลจิติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นและทำให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย SCGL มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโลจิสติกส์และซัปพลายเชนในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จากการให้บริการขนส่งสินค้าแก่บริษัทในเครือ SCG และลูกค้าทั่วไป รวมถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไอทีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบควบคุมการจัดการโลจิสติกส์และซัปพลายเชน, ระบบ Telematics เพื่อติดตามข้อมูลการขับขี่และแจ้งเตือนคนขับ, ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (ASRS) ฯลฯ รวมถึงมีโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ เพื่อฝึกทักษะการขับขี่ปลอดภัยให้ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถโฟล์คลิฟต์

ขณะเดียวกัน SCGL มีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศจากการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่ม SCC เช่นในประเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยสามารถให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม ไปยังจีน และมีธุรกิจเรือลำเลียงสินค้า (Barge) ที่สามารถขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา รวมถึงมีธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือ ซึ่งสามารถร่วมกับ JWD ขยายเส้นทางให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ SCGL มีแผนขยายบริการโลจิสติกส์ทางรางและทางอากาศ ซึ่งเมื่อรวมกับ JWD แล้วจะสามารถขยายเครือข่ายการให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือและทางรางมีต้นทุนต่ำกว่าทางรถ
กำลังโหลดความคิดเห็น