เรือด่วนเจ้าพระยา ผู้ให้บริการรเดินเรือโดยสารเส้นทางระหว่างปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถึงวัดราชสิงขร กรุงเทพฯ 5 สายการเดินเรือหลัก ได้พัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดบูธจำหน่ายตั๋วโดยสารสีแดงที่ท่าเรือสาทร และสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน รวมทั้งออกนโยบายให้ผู้โดยสารที่ถือตั๋วราคาสูงกว่า สามารถเปลี่ยนสายอื่นที่มีราคาต่ำกว่าได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม
ล่าสุดร่วมกับ บัตรแรบบิท ในกลุ่มบีทีเอสกรุ๊ป รับชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิท กับเรือด่วนเจ้าพระยาทุกธง ทุกสาย หลังจากเคยให้บริการกับเรือธงแดง และเรือเจ้าพระยาทัวร์ริสโบ๊ท (ธงฟ้า) ก่อนหน้านี้ พร้อมแคมเปญลดค่าตั๋วโดยสาร 5 บาทต่อเที่ยว เมื่อใช้บัตรแรบบิทชำระค่าโดยสาร จำนวน 600,000 สิทธิ ตั้งแต่ 3 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565 หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด
พร้อมกันนี้ ยังได้ผลิต บัตรแรบบิท ลายเรือด่วนเจ้าพระยา (Limited Edition) แจกให้ผู้โดยสารฟรี สำหรับคนที่ไม่เคยมีบัตรแรบบิทมาก่อน หรือคนที่มีบัตรแรบบิทอยู่แล้ว แต่อยากได้บัตรใบใหม่ ด้วยดีไซน์ทันสมัยไม่เหมือนใคร เพียงนำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงเพื่อลงทะเบียน พร้อมเติมเงินลงในบัตร 100 บาท และยังสามารถซื้อตั๋วโดยสารรับส่วนลดทันที 5 บาทได้อีกด้วย
โดยเรือด่วนเจ้าพระยาและบัตรแรบบิท จะแจกบัตรแรบบิทลายเรือด่วนเจ้าพระยา ทุกวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ที่ท่านนทบุรี ตั้งแต่เวลา 06.00-08.30 น., ท่าพรานนก ตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น., ท่าเทเวศร์ ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. และท่าสาทร ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 หรือจนกว่าบัตรจะหมด
Ibusiness review มีโอกาสใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ท่าพรานนกเมื่อวันก่อน พบว่าสามารถใช้บัตรแรบบิทซื้อตั๋วโดยสารได้ทุกประเภท แต่สำหรับบัตรแรบบิทที่ผูกกับบัญชี Rabbit LinePay ไม่สามารถหักจากบัตรเครดิต บัตรเดบิตที่ผูกกับบัตรแรบบิทได้โดยตรง (เหมือนกับรถประจำทางสมาร์ทบัส) แต่สามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าแรบบิทที่อยู่ในบัตร เพื่อใช้ชำระค่าโดยสารได้
ส่วนการใช้ส่วนลด 5 บาท สามารถนำบัตรแรบบิทไปยื่นกับพนักงาน ที่บูธจำหน่ายตั๋วโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาได้ทันที โดยตั๋วที่ได้รับจะเป็นราคาที่หักส่วนลดแล้ว เช่น เรือธงส้ม จาก 16 บาท ลดเหลือ 11 บาท, เรือธงเหลือง จาก 21 บาท ลดเหลือ 16 บาท เรือธงเขียวเหลือง จาก 14-33 บาท ลดเหลือ 9-28 บาท และเรือปรับอากาศธงแดง จาก 30 บาท ลดเหลือ 25 บาท
แม้ระบบแรบบิทจะแตกต่างจากระบบ EMV Contactless แต่ก็มีบัตรแรบบิทร่วมแบรนด์ ได้แก่ บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราช (เครือข่ายมาสเตอร์การ์ด) ธนาคารกรุงเทพ และบัตรเครดิตอิออน แรบบิท แพลทินัม สามารถใช้ได้เช่นกัน
ตั๋วโดยสารที่ได้จะเป็นสลิปพิมพ์ด้วยความร้อนแบบไม่ใช้หมึก คล้ายสลิปใบเสร็จรับเงิน ไม่ใช่ตั๋วขนาดเล็กเหมือนแต่ก่อน ผู้โดยสารต้องเก็บตั๋วไว้กับตัวตลอดเวลาจนกว่าจะถึงปลายทาง เพราะระหว่างทางจะมีพนักงานตรวจตั๋วคอยตรวจสอบนั่นเอง อนึ่ง แคมเปญนี้จะยกเว้นตั๋วโดยสารราคาผู้สูงอายุซึ่งลดครึ่งราคาอยู่แล้ว
ส่วนการขอบัตรแรบบิทลายเรือด่วนเจ้าพระยา จะมีเจ้าหน้าที่แรบบิทให้บริการอยู่ ให้นำบัตรประชาชนตัวจริงยื่นให้กับเจ้าหน้าที่พร้อมกับเงิน 100 บาท ใช้เวลาลงทะเบียนบัตรใหม่และเติมเงินไม่เกิน 5 นาที โดยบัตรที่ได้รับจะเป็นบัตรแรบบิทพิเศษสำหรับบุคคลทั่วไป มีอายุ 7 ปี ถ้าโทรศัพท์มือถือรองรับระบบ NFC สามารถดาวน์โหลดแอปฯ My Rabbit เพื่อเช็กยอดเงินได้ด้วย
สำหรับช่องทางการเติมเงินลงในบัตรแรบบิท สามารถเติมเงินได้ที่จุดขายตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยาบนท่าเรือต่างๆ ตู้เติมสบาย หรือที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทุกสถานี เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร 48 สถานี และจุดให้บริการเติมเงินบัตรแรบบิท เช่น ร้านแมคโดนัลด์ มินิบิ๊กซี โลตัสโกเฟรช และร้านค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับบัตรแรบบิททั่วไป เติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท
ปัจจุบัน บัตรแรบบิท สามารถใช้ได้กับระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งสายสุขุมวิทและสายสีลม รถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที รถโดยสารสมาร์ทบัส สาย 104, 147, 150 และ 167 รถภูเก็ตสมาร์ทบัส ซึ่งการร่วมมือกับเรือด่วนเจ้าพระยาในครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อแบบเรือต่อราง และสนับสนุนการใช้ตั๋วร่วมตามนโยบายของภาครัฐอีกด้วย
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)