xs
xsm
sm
md
lg

กระแสวิจารณ์สนั่น“Best Before” หนึ่งในตัวการขยะอาหารล้นโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


หลายประเทศผลักดันให้กำหนดมาตรฐานป้ายกำกับสินค้า ขณะที่มีเสียงวิจารณ์มากขึ้นว่า ป้ายวันที่บนแพ็คเกจผลิตภัณฑ์เป็นตัวการหนึ่งของปัญหาขยะอาหาร
ขณะที่ทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับขยะอาหาร เสียงวิจารณ์ยิ่งดังขึ้นเช่นเดียวกันว่า ตัวการหนึ่งของปัญหานี้คือ ป้าย “best before”

ผู้ผลิตใช้ป้ายนี้มานานหลายสิบปีเพื่อประเมินช่วงเวลาที่อาหารมีความสดสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ป้าย “best before” หรือควรบริโภคก่อน ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาจส่งเสริมให้ผู้บริโภคทิ้งอาหารที่จริงๆ แล้วยังกินได้เพียงแต่อาจมีคุณค่าทางโภชนาการหรือความอร่อยน้อยลงเท่านั้น ซึ่งต่างจากป้าย “use by” หรือใช้ภายใน ที่พบได้บนแพ็คเกจอาหารที่เน่าเสียได้ เช่น เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม

เพื่อแก้ปัญหานี้ เมื่อไม่นานมานี้เชนซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในสหราชอาณาจักรอย่างเวทโทรส, เซนส์บิวรี และมาร์คส์ แอนด์ สเปนเซอร์ ตัดสินใจเลิกใช้ป้าย “best before” บนแพ็คเกจผักผลไม้ ขณะที่คาดว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะประกาศยกเครื่องกฎหมายป้ายกำกับสินค้าภายในปลายปีนี้ โดยกำลังพิจารณายกเลิกป้าย “best before” เช่นเดียวกัน

ที่อเมริกาแม้ยังไม่มีการผลักดันให้ยกเลิกป้าย “best before” แต่มีการสนับสนุนมากขึ้นให้กำหนดมาตรฐานถ้อยคำที่ใช้บนป้ายกำกับสินค้าเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ซื้อเกี่ยวกับขยะอาหาร ซึ่งรวมถึงการผลักดันของซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่และบริษัทอาหาร รวมถึงในรัฐสภา

รีเฟด องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องขยะอาหาร เผยว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า แต่ละปีผลผลิตอาหารทั่วโลก 17% จะกลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน

ขยะอาหารเหล่านั้นหมายถึงพลังงานที่สูญเปล่า ซึ่งรวมถึงน้ำ ที่ดิน และแรงงานในการผลิตอาหาร รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อนำขยะอาหารไปทิ้งในพื้นที่ฝังกลบ

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้อาหารกลายเป็นขยะ ตั้งแต่การปฏิเสธอาหารที่หน้าตาขี้เหร่ กระนั้น รีเฟดประเมินว่า 7% ของขยะอาหารในอเมริกา หรือราวปีละ 4 ล้านตัน เกิดจากความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับป้าย “best before”

ผู้ผลิตเริ่มใช้ป้ายวันที่อย่างกว้างขวางในทศวรรษ 1970 เพื่อแก้ไขข้อกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ โดยไม่มีกฎควบคุมของทางการและผู้ผลิตสามารถกำหนดเองว่า ผลิตภัณฑ์ของตนจะคงรสชาติที่ดีที่สุดจนถึงเมื่อใด มีเพียงนมผงสำหรับทารกเท่านั้นที่ถูกกำหนดให้ต้องติดป้าย “ใช้ภายใน” ในอเมริกา

นับจากปี 2019 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ที่กำกับดูแลอาหาร 80% ในอเมริกา แนะนำให้ผู้ผลิตใช้ป้าย “best if used by” หรือ “คุณภาพดีที่สุดหากใช้ภายใน” สำหรับอาหารที่เน้นความสด และ “use by” สำหรับอาหารที่เน่าเสียได้ ทั้งนี้ อิงจากผลสำรวจที่พบว่า ผู้บริโภคเข้าใจวลีเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอิงกับความสมัครใจ และมีการใช้ถ้อยคำบนป้ายกำกับแตกต่างหลากหลายมาก ตั้งแต่ “sell by” หรือจำหน่ายภายใน ไปจนถึง “freshest before” หรือสดใหม่ที่สุดก่อนวันที่

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนพบว่า มีป้ายวันที่อย่างน้อย 50 แบบบนเชลฟ์สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของอเมริกา ซึ่งสร้างความสับสนอย่างมากในหมู่ผู้บริโภค

ริชาร์ด ลิปซิต เจ้าของโกรเซอรี เอาต์เล็ตในแคลิฟอร์เนียที่เน้นขายอาหารลดราคา บอกว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ป้าย “จำหน่ายภายใน” “คุณภาพดีที่สุดภายใน” และ “หมดอายุ” หมายความว่า อาหารเหล่านั้นกินไม่ได้อีกต่อไปซึ่งไม่เป็นความจริง

ลิปซิตยกตัวอย่างนมที่ยังกินได้อย่างปลอดภัยภายในหนึ่งสัปดาห์หลังผ่านวันที่บนป้าย “ใช้ภายใน” ขณะที่เอฟดีเอแนะนำให้ผู้บริโภคสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสี ความคงตัวหรือเนื้อสัมผัส เพื่อตัดสินใจว่า อาหารนั้นยังกินได้หรือไม่

เชนซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหราชอาณาจักรสนับสนุนให้ลูกค้าใช้ประสาทสัมผัสของตัวเอง เช่น มอร์ริสันส์ยกเลิกป้าย “ใช้ภายใน” สำหรับนมแบรนด์ของตนเองส่วนใหญ่ในเดือนมกราคม และเปลี่ยนไปใช้ป้าย “ควรบริโภคก่อน” แทน

ลูกค้าบางคนสนับสนุนแนวทางนี้ เช่น เอลลี สแปนสวิก นักการตลาดโซเชียลมีเดียในอังกฤษ ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ ไข่ และของชำอื่นๆ จากบูธของเกษตรกรโดยตรงและร้านค้าท้องถิ่นเท่าที่ทำได้ เธอบอกว่า อาหารเหล่านั้นไม่มีป้ายกำกับ แต่ดูง่ายมากว่ายังสด และเสริมว่า สิ่งสุดท้ายที่อยากทำคือ ทำให้อาหารและเงินสูญเปล่าเพียงเพราะป้ายบอกว่า เกินเวลาที่เหมาะจะกินอาหารนั้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เช่น แอนนา วีทรอฟ เจ้าของธุรกิจรีโนเวตบ้านในลอนดอน ที่ห่วงว่า ถ้าไม่มีฉลากกำกับ พนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ตอาจไม่รู้ว่า สินค้าใดถึงเวลาที่ต้องนำออกจากเชลฟ์แล้ว เธอเล่าว่า เมื่อไม่นานนี้ซื้อสับปะรดมาและเพิ่งรู้ตอนผ่าว่า ข้างในเน่า

ห้างบางแห่งในอเมริกา เช่น วอลมาร์ท ติดป้ายกำกับแบรนด์ของตัวเองโดยใช้มาตรฐานเดียวกันคือ “คุณภาพดีที่สุดหากใช้ภายใน” และ “ใช้ภายใน” ซึ่งคอนซูเมอร์ แบรนด์ส แอสโซซิเอชัน ที่เป็นตัวแทนของบริษัทอาหารรายใหญ่อย่างเจเนอรัล มิลส์ และโดล สนับสนุนให้สมาชิกใช้ป้ายกำกับที่เป็นมาตรฐานแบบวอลมาร์ทเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน รัฐสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณากฎหมายกำหนดมาตรฐานป้ายวันที่และทำให้แน่ใจว่า สามารถบริจาคอาหารให้องค์กรกู้ชีพอาหารแม้ผลิตภัณฑ์นั้นเกินระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคแล้วก็ตาม

อนึ่ง ขณะนี้มีอย่างน้อย 20 มลรัฐห้ามขายหรือบริจาคอาหารหลังวันที่ระบุบนป้ายกำกับ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการรับผิดหากเกิดปัญหา

ป้ายที่ชัดเจนและกฎการบริจาคอาจช่วยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น ฟู้ดชิฟต์ที่ฝึกเชฟใช้ประโยชน์จากอาหารที่ได้รับการกู้ชีพ เช่น ทำขนมสำหรับสุนัขจากกล้วยงอม ไขมันในไก่ และกากมอลต์จากโรงเบียร์

แพตตี้ แอปเปิล ผู้จัดการฟู้ดชิฟต์ สรุปว่า จำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มากขึ้น เช่น การจัดการกับป้ายวันหมดอายุ เพราะแม้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาขยะอาหาร แต่อาจส่งผลกระทบกว้างไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น