xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางขนมเปี๊ยะร้อยล้าน! “APRIL’S BAKERY” กับความสำเร็จที่ต้องฝ่าฟัน ล้มได้แต่ต้องลุกให้เป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทำความรู้จักกับเส้นทางความสำเร็จของ “ขนมเปี๊ยะร้อยล้าน” กับแบรนด์ “APRIL’S BAKERY” ที่ใช้เวลากว่า 10 ปีแจ้งเกิดขนมเปี๊ยะสไตล์ใหม่ในตลาดไทย สร้างความต่างและผสมผสานระหว่างขนมเปี๊ยะและพายเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนสามารถสร้างยอดขายได้หลักร้อยล้านบาทต่อเดือน พร้อมทั้งได้ ธพว. เติมทุนหนุนธุรกิจให้เติบโตและผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในที่สุด


ระยะกว่า 10 ปีมาแล้วที่แบรนด์ “APRIL’S BAKERY” แจ้งเกิดขนมเปี้ยะสไตล์ใหม่ในตลาดไทย ผสมผสานแสนลงตัวระหว่างขนมเปี๊ยะกับพาย โดดเด่นด้วยแป้งหอมบาง ข้างในอัดแน่นด้วยไส้จัดเต็ม สร้างยอดขายหลักร้อยล้านบาทต่อปี

แต่ว่าจะประสบความสำเร็จเช่นนี้ ตั้งแต่ก่อนและระหว่างเส้นทางธุรกิจ “กนกกัญจน์ มธุรพร” หรือ “อร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ ประเทศไทย จำกัด เจ้าของ “APRIL’S BAKERY” ต้องเรียนรู้ ฝ่าฟัน และปรับตัวทางธุรกิจเสมอมา โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนช่วยธุรกิจเติบโต และพร้อมต่อยอดสนับสนุนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์


เมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว “กนกกัญจน์ มธุรพร” สาวสวยภายนอกดูบอบบาง แต่ภายในสุดแกร่ง ตัดสินใจลาออกจากอาชีพแอร์โฮสเตสสาว เพื่อล่าฝันสร้างธุรกิจตัวเอง ลงทุนเปิดคาเฟ่ตามเทรนด์ฮิตในเวลานั้น

ชีวิตจริงไม่ง่ายอย่างที่ฝัน เปิดคาเฟ่ได้ปีเดียวก็ต้องปิดตัวลง เพราะรายได้ไม่เข้าเป้า แต่ยังไม่ยอมแพ้ เปลี่ยนมาทำ “เบเกอรี่” เช่าตู้กระจกขายในห้างสรรพสินค้า ภายใต้แบรนด์ “เอพริล เบเกอรี่” (APRIL’S BAKERY) ซึ่งตั้งจากเดือนเกิดของตัวเอง อีกทั้ง ยังเป็นชื่อเล่นที่เคยใช้สมัยทำงานแอร์โฮสเตสสาว


เริ่มแรกเหมือนจะไปได้สวย ยอดขายหลักหมื่นบาทต่อวัน แต่ผ่านไปสักระยะ ด้วยพฤติกรรมคนไทยที่ไม่ได้กินเบเกอรี่เป็นเมนูหลักทุกวัน อีกทั้ง คู่แข่งมากขึ้น กระทบยอดขายลดลง จนไม่คุ้มค่าเช่า


สรุปแล้ว 3 ปีแรกที่ลาออกจากงานประจำมาลุยธุรกิจ ขาดทุนตลอด

“ไปต่อหรือพอแค่นี้?” เธอถามตัวเอง ถ้าจะไปต่อ ต้องสู้เสี่ยงปรับธุรกิจใหม่ ซึ่งอาจล้มเหลวอีกก็ได้ แต่ถ้าเลือกพอแค่นี้ แค่กลับไปอยู่บ้านเกิด จ.นครสวรรค์ ช่วยกิจการขายวัสดุก่อสร้างของครอบครัว ชีวิตคงมีความสุขแบบเรียบง่าย


ระหว่างที่กำลังตัดสินใจเส้นทางชีวิตให้ตัวเอง เจ้าของแบรนด์บังเอิญไปฮ่องกง แล้วเจอ “ขนมพายหมูแดง” หรือที่เมืองไทยเรียกว่า “ขนมเปี๊ยะ” เจ้าดังต้นตำรับฮ่องกง การันตีความอร่อยจากลูกค้าที่ต้องต่อคิวซื้อยาวเหยียด ซึ่งเวลานั้น ในเมืองไทยยังไม่มีขนมลักษณะนี้มาก่อน จุดประกายนำขนมเปี๊ยะสูตรฮ่องกงมาเป็นพระเอก ชูโรงประจำแบรนด์


พรสวรรค์บวกพรแสวง เธอลองผิดลองถูกแกะสูตรพายหมูแดงของฮ่องกงด้วยตัวเอง ปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทย นำมาสู่ขนมเปี๊ยะสูตรเอกลักษณ์เฉพาะตัว แป้งบาง เนื้อแน่น หวานน้อย โดยเฉพาะ “ไส้หมูแดง” ที่เป็นซิลเนเจอร์ ใครชิมก็ติดใจ จนชื่อแจ้งเกิดให้ APRIL’S BAKERY เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากการบอกปากต่อปาก


เจ้าของแบรนด์ เสริมว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ขนม APRIL’S BAKERY ครองใจลูกค้า มาจากคุณภาพของวัตถุดิบ คัดสรรต้องเป็นเกรดดีที่สุดเท่านั้น เช่น เจาะจงใช้น้ำมันรำข้าว เนื้อหมูเลือกไร้มัน เป็นต้น เมื่อกินแล้วสัมผัสได้ทันทีถึงการเป็นขนมระดับพรีเมียม เหมาะซื้อติดบ้าน หรือเป็นของฝากในโอกาสสำคัญ


อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่า ในช่วงแรกของธุรกิจ แม้ขนมเปี๊ยะสไตล์โมเดิร์นที่คิดขึ้นจะขายดิบขายดี แต่ด้วยต้นทุนธุรกิจที่สูง ทั้งค่าวัตถุดิบ และค่าเช่า ขณะที่การผลิตยังเป็นรูปแบบในครัวเรือน แต่ละวันจึงผ่านไปอย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องลงมือทำขนมเอง พร้อมกับต้องบริหารการเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถึงขึ้นเอาสมบัติส่วนตัวไปขาย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจก็เคยมาแล้ว


กระทั่ง เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ APRIL’S BAKERY เติบโตก้าวกระโดด หลังจากทำธุรกิจมาประมาณ 5 ปี เธอยกระดับสู่การขยายช่องทางตลาด ด้วยการขาย “แฟรนไชส์” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ ตามด้วย ส่งสินค้าขายผ่านร้านสะดวกซื้อเจ้าดังที่มีสาขาทั่วประเทศ


เจ้าของแบรนด์ ระบุก้าวที่กล้าในตอนนั้นว่า การขยายช่องทางทั่วประเทศ เป็นโอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย เพราะจำเป็นต้องลงทุนสูงมาก เพื่อสร้างโรงงานรองรับกำลังผลิตมหาศาล ที่สำคัญที่สุด ต้องบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนไม่ให้สะดุด เนื่องจากระบบซื้อขายสินค้ากับค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ จะมีกำหนดรอบระยะเวลาในการชำระเงิน หากบริหารผิดพลาด แม้จะขายดี แต่ธุรกิจอาจไปไม่รอด

นี่เป็นสาเหตุที่เจ้าของแบรนด์ เลือกใช้บริการจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ โดยใช้บริการ “สินเชื่อแฟคตอริ่ง” สามารถนำเอกสารทางการค้า เช่น ใบส่งของ มาเปลี่ยนเป็นเงินสดหมุนเวียนได้ทันที สามารถขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าได้ต่อเนื่องไม่มีสะดุด


“ครอบครัวของอรที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ เป็นลูกค้า SME D Bank มายาวนาน เมื่อ APRIL’S BAKERY ได้รับโอกาสขายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ จำเป็นต้องการเงินทุนมาเสริมสภาพคล่อง พี่ชายอรเลยแนะนำให้ใช้บริการของ SME D Bank สาขานครสวรรค์ ซึ่งสินเชื่อแฟคตอริ่ง ตอบโจทย์ธุรกิจเป็นอย่างดี เมื่อส่งมอบสินค้าให้คู่ค้า ก็สามารถนำเอกสารมาเปลี่ยนเป็นเงินทุนได้ทันที สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง แทนที่จะต้องรอรอบจ่ายเงินจากลูกค้า” เจ้าของแบรนด์ ระบุ

นอกเหนือจากด้านการเงินแล้ว ทาง SME D Bank ยังเสริมบริการ “ด้านพัฒนา” โดยพา “น้องฟ้า - พัชมน นวกิจธนาคม” เจ้าของตำแหน่งชนะเลิศ Miss Tourism World Thailand 2021 ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอีกทาง


จากจุดเริ่มต้นคิดและสร้างธุรกิจด้วยตัวคนเดียว ปัจจุบัน เธอนำพา APRIL’S BAKERY เติบโตอย่างน่าชื่นชม ด้วยกำลังผลิตกว่า 3 แสนชิ้นต่อวัน ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่พนักงานกว่า 300 ชีวิต มีสาขาของตัวเองและแฟรนไชส์ รวมกันกว่า 40 แห่ง รวมถึง มีช่องทางขายสินค้าผ่านร้านสะดวกเจ้าดังกว่า 1 หมื่นสาขาทั่วประเทศ โดยรวมแล้วสร้างยอดขายหลักร้อยล้านบาทต่อปี นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจเสริมเปิดร้านอาหาร ชื่อ "วนิดา"อีกด้วย

ก้าวเดินต่อไปของขนม APRIL’S BAKERY วางแผนขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ รวมถึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย SME D Bank พร้อมเป็นพันธมิตร เดินเคียงข้างสนับสนุนให้ธุรกิจ APRIL’S BAKERY ก้าวต่อไป ไกลกว่าเดิม ในฐานะขนมเปี๊ยะจากเมืองไทยที่จะไปครองใจในระดับโลก


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น