xs
xsm
sm
md
lg

ยอดผลิตรถ 8 เดือนแรกโต 10.53% ทั้งปียังหวังตามเป้า 1.75 ล้านคัน "EV" ยังมาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.เผยยอดการผลิตรถยนต์ 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) แตะ 1.18 ล้านคัน โต 10.53% ลุ้นระทึกทั้งปียังหวังได้ตามเป้า 1.75 ล้านคันหลังปัจจัยต่างๆ หนุน ทั้งกิจกรรมทาง ศก.ในประเทศเริ่มฟื้นตัว ท่องเที่ยว กำลังซื้อ และรอลุ้นชิปเพิ่มหลังส่งออกไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ชะลอ จับตาส่งออก 8 เดือนโตแค่ 0.4% ด้านรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ส.ค.โต 438.2% ทำสถิติสูงสุดอานิสงส์นโยบายรัฐหนุน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากฐานต่ำของปีที่แล้วเพราะการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ช่วงกลาง ก.ค.-ส.ค. 64 และเพิ่มขึ้นจาก ก.ค. 65 จำนวน 20.13% เพราะมีการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศ ส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) การผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 1,184,800 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.53% โดยมั่นใจว่าการผลิตรถยนต์ตลอดปี 2565 จะได้ 1,750,000 คัน แบ่งผลิตเพื่อส่งออก 900,000 คัน และผลิตขายในประเทศ 850,000 คัน ตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน ส.ค.มีทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.7% จากฐานต่ำของปีที่แล้วจากการล็อกดาวน์ และเพิ่มจาก ก.ค. 65 จำนวน 6.52% เพราะมีรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้น และ 8 เดือนแรกปีนี้รถยนต์มียอดขาย 559,537 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 19.61%

ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ส.ค. 65 จำนวน 73,325 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 11.75% แต่เพิ่มขึ้นจาก ส.ค. 64 คิดเป็น 23.09% เพราะฐานต่ำของปีที่แล้วส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 606,055 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40% รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ 8 เดือนแรกปีนี้ทั้งเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 551,483.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.80%

"เป้าหมายทั้งปีที่เราปรับใหม่ล่าสุดที่ลดการผลิตลง 50,000 คันมาอยู่ที่ 1,750,000 คันดูแนวโน้มที่เหลือก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้อยู่ โดยมีปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ต.ค.ที่รัฐกำหนดให้โควิด-19 เป็นโรคที่แค่เฝ้าระวังจากเดิมเป็นโรคติดต่ออันตราย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะช่วยกระตุ้นรายได้ประชาชน รวมถึงการประกันราคาพืชเศรษฐกิจของรัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ" นายสุรพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีแนวโน้มรถยึดเข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้นและตัวเลขเช่าซื้อรถค้างชำระแตะ 154,000 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของสินเชื่อเช่าซื้อนั้นมองว่าเป็นผลกระทบตั้งแต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และมีสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมากนักขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มหลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลายแล้ว

ส่วนการส่งออกนั้นคงจะต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อย่างใกล้ชิด ที่ล่าสุดอาจเป็นข่าวดีหลังจากที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็อทรอนิกส์มีการส่งมอบลดลง อาจทำให้รถยนต์จะได้รับชิปในบางส่วนเพิ่มขึ้นแทนได้หรือไม่ซึ่งกำลังติดตาม ประกอบกับหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ามียอดขายดีขึ้น แต่ปัจจัยลบที่ต้องพิจารณาประกอบคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในไต้หวันและตะวันออกกลาง


นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงยอดรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) เดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 1,184 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 220 คันหรือเพิ่มขึ้นเป็น 438.2% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ โดยได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้ ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) สะสมมีจำนวนทั้งสิ้น 22,374 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 146.95% ประเภทแบบผสม (HEV) รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 239,110 คัน เพิ่มขึ้น 27.88% เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น