xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จแล้ว! กำแพงกันคลื่น จ.สงขลา กรมเจ้าท่าส่งมอบ ท้องถิ่นสร้างแลนด์มาร์กท่องเที่ยวใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมเจ้าท่าส่งมอบกำแพงกันคลื่น จ.สงขลา ให้ชุมชน ต.เกาะแต้ว-ต.เขารูปช้างยาว  3.4 กม.ป้องกันชายฝั่งกัดเซาะ และสร้างแลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยวให้พื้นที่ เผยปี 66 ตั้งงบ 400 ล้านลุยเสริมทรายชายหาดจอมเทียนเฟส 2

วันที่ 19 กันยายน 2565 ณ ลานกิจกรรมชายฝั่ง ต.เกาะแต้ว นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดตัวและส่งมอบโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ให้แก่ชุมชน โดยมี นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เป็นผู้มอบ และนายจักรธร สุริแสง นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง พร้อมนายอุสมาน เอียดวารี รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว เป็นผู้รับมอบ พร้อมทั้งผู้แทนหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ผู้แทนชุมชน ร่วมงาน

นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นลมในฤดูมรสุม เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตามแนวถนนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สาย สข.2004 งบประมาณมูลค่า 219,935,000 บาท โดยได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การดำเนินงานมีผลกระทบน้อยที่สุด


สำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ส.ค. 2565 มีจุดเริ่มต้นบริเวณหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สิ้นสุดที่บริเวณหมู่ที่ 7 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยก่อสร้างในรูปแบบ “กำแพงหินทิ้งป้องกันชายฝั่ง” ร่วมกับ “โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นกระโจนหลังแนวกำแพงหิน” ความยาวประมาณ 3,439 เมตร

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังมีการส่งเสริมทัศนียภาพ และสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคงสภาพชายหาดทรายให้สวยงาม โดยการปรับปรุงทัศนียภาพด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวหลังกำแพงกันคลื่น และหลังเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่คนในชุมชน ส่งเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ได้มีการออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนกลางเป็น “ลานอเนกประสงค์” ขนาดพื้นที่ประมาณ 13,692 ตารางเมตร สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดสงขลาต่อไป


นายวรรณชัยกล่าวว่า ชายฝั่งทะเลประเทศไทยมีระยะทางประมาณ 3,000 กม. (ฝั่งอ่าวไทย 2,000 กม. ฝั่งอันดามัน 1,000 กม.) โดยมีหลายพื้นที่ประมาณ 600-700 กม.ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการกัดเซาะของคลื่นบริเวณชายฝั่งที่ส่งผลต่อทั้งทรัพยากรทางทะเลและวิถีชีวิตริมฝั่งของชุมชน

กรมเจ้าท่ามีแผนแก้ปัญหาชายฝั่งกัดเซาะใน 2 รูปแบบ โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ การป้องกันการกัดเซาะ การใช้ประโยชน์กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว 1. รูปแบบโครงสร้างแข็ง ก่อสร้างกำแพงป้องกัน ซึ่งได้ดำเนินการระยะทาง 120 กม. ซึ่งกรมฯ ตั้งงบซ่อมบำรุงประมาณ 50 ล้านบาท/ปี 2. โครงสร้างอ่อน เป็นการเสริมทราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการที่ชายหาดจอมเทียน และมีแผนเฟส 2 อีก 2-3 กม. จัดสรรงบปี 2566-2568 วงเงิน 400 ล้านบาท นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.สงขลายังมี โครงการเสริมทรายชายหาดบางเสร่ และเสริมทรายชายหาดสมิหลา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ

ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกับประชาชน กรมเจ้าท่าได้ให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ โดยจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม เช่น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นก่อนการก่อสร้าง การเข้าพบหารือ สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง และ Focus group การแทรกวาระการประชุมหน่วยงานราชการ กิจกรรมประชาสัมพันธ์สัญจร (Road Show) จัดทำคลิปวิดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ รวมถึงการจัดกิจกรรมผ่าน Facebook แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ต.เกาะแต้ว-เขารูปช้าง กรมเจ้าท่า ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ

กรมเจ้าท่าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรักษาผืนแผ่นดินริมชายฝั่ง พลิกฟื้นผืนทรายให้กลับมาสวยงามดั่งเดิม อันจะช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เรียกคืนชีวิตชีวาจากสัตว์น้ำและทัศนียภาพที่สวยงามของชายฝั่งกลับคืนมา พร้อมส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยว รวมไปถึงกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนและระดับภูมิภาคต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น