ดอนเมืองโทลล์เวย์ฟื้น จราจรแตะ 1 แสนคัน/วันหลังโควิดคลี่คลาย แม้มีแรงต้านจากราคาน้ำมันและเศรษฐกิจ ลุ้นไตรมาส 4/65 ดันรายได้ทั้งปีเท่าปี 63 ยันพร้อมประมูลชิง "มอเตอร์เวย์, ทางด่วน" เผยสัดส่วนใช้ M-Pass/ Easy Pass โต 40% สะท้อนความสะดวก
นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า จากที่ดอนเมืองโทลล์เวย์ได้เปิดใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร M-Pass และ Easy Pass ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้งานในสัดส่วนเกือบ 40% ของปริมาณรถที่ใช้ทางทั้งหมดแล้ว มีอัตราการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนาให้สามารถชำระค่าผ่านทางทั้งเงินสด/M -pass/Easy- pass ผสมกันในช่องเดียวกันอีกด้วย รวมถึงการชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV และ QR Payment ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดระบบการให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้ทางสามารถชำระค่าผ่านทางได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นให้สามารถเลือกใช้ได้หลายรูปแบบแล้ว ในส่วนของช่องเงินสด กรณีใช้เป็นคูปองจะมีส่วนลด 5% ส่วนบัตร M-pass/ Easy-pass นั้น ล่าสุดได้เปิดให้สมัครเป็นสมาชิก Line OA: @donmuangtollway จะสะสมแต้มเพื่อชิงโชคเสื่อต้นเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้วประมาณ 5,000 บัญชี
นายศักดิ์ดากล่าวว่า ในปี 2562 ปริมาณจราจรบนโทลล์เวย์เฉลี่ย 150,000 คัน/วัน โดยบริษัทฯ มีรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท กำไรประมาณ 1,100 ล้านบาท ปี 2563 เกิดสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีการประกาศเคอร์ฟิว และประกาศล็อกดาวน์ 1 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อปริมาณจราจรลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 80,000-100,000 คัน/วัน ส่งผลต่อรายได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท แต่ยังมีกำไรประมาณ 700 ล้านบาท ปี 2564 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 2 ครั้ง ปริมาณจราจรเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 50,000-60,000 คัน/วัน ส่วนรายได้ลดลงที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท
@ปริมาณจราจรเพิ่ม ดันรายได้-กำไรปี 65 ฟื้นตัว
สำหรับปี 2565 สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่มีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจเป็นแรงต้านบ้าง ปัจจุบันภาพรวมปริมาณจราจรปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 100,000 คัน/วัน โดยคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/2565 ปริมาณจราจรจะเพิ่มขึ้นอีก โดยคาดว่าผลดำเนินงานปี 2565 ในส่วนของรายได้จะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2563 แต่คาดว่าจะมีผลกำไรที่ดีกว่าปี 2563 เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการลงทุน เช่น ด้านTraffic Management วงเงินประมาณ 200-300 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางประมาณ 300-400 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯ มีข้อดีคือภาระหนี้ ดอกเบี้ยเป็นศูนย์
@พร้อมประมูลชิงสัมปทาน "มอเตอร์เวย์, ทางด่วน" ลุยขยายธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมาย และมีความพร้อมในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP) ที่มีแผนเปิดประมูลในช่วง 1-2 ปีนี้ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 28,700 ล้านบาท, โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา บริษัทฯ สนใจร่วมประมูลงาน จ้างบริหารจัดการและงานบำรุงรักษาทาง (O&M), โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการและงานบำรุงรักษาทาง (O&M) ส่วนงานรูปแบบที่ต้องก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาพร้อมบริหาร O&M บริษัทฯ มีพันธมิตรที่มีศักยภาพเพื่อร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ จะมีธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Non-Toll Road Business) ที่มีแผนจะเข้าไปลงทุนหลังจากนี้
“ในการลงทุนโครงการใด บริษัทฯ จะศึกษาความเป็นไปได้ประเมินและวิเคราะห์ความคุ้มค่า ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้น ต้องได้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะมีทั้งการกู้เงินมาลงทุน รวมถึงหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมเสริมในส่วนที่บริษัทไม่เชี่ยวชาญ และจะต้องมีศักยภาพช่วยลดต้นทุนซึ่งกันและกันด้วย” นายศักดิ์ดากล่าว
@ลุยพัฒนาระบบบริการอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน
นอกจากการปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่หลากหลายแล้ว โทลล์เวย์ยังพัฒนาการให้บริการต่างๆ เช่น ระบบการจัดการจราจรและกู้ภัย เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดรับกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการฝึกอบรมพนักงานในการช่วยเหลือ ลาก ยก รถยนต์ไฟฟ้า(รถ EV) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการยกลากรถยนต์ไฟฟ้าจะแตกต่างออกไป การบริการดูแลจะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และได้จัดทำแผนที่บอกตำแหน่งของสถานีชาร์จไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เส้นทางดอนเมืองโทลล์เวย์ด้วย รวมถึงมีระบบ AI ตรวจจับภาพด้วยกล้อง CCTV กรณีมีสิ่งของตกหล่นจากรถ สามารถส่งข้อมูลภาพแบบเรียลไทม์แจ้งศูนย์ควบคุม (OCC) โดยบนโทลล์เวย์ ระยะทาง 21.9 กม. มี CCTV ประมาณ 500 ตัว โดยติดตั้งทุกๆ 300 เมตร ซึ่งมีการติดตั้งระบบ AI เพื่อช่วยในด้านความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแอปฯ ตรวจสอบสภาพจราจรดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ปลายปี 2565
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารสำนักงานใหญ่ และอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 9 แห่งจำนวน 61 ตู้ เพื่อผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าบางส่วนให้ครบในปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2608