xs
xsm
sm
md
lg

Zipmex สรุปผลประชุม Town Hall ยกสถานะลูกค้า ZipUp เป็นเจ้าหนี้ - นายทุนใหม่ดึงเช็งไม่กล้าซื้อกิจการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"เอกลาภ" ชี้แจงยังไม่มีความคืบหน้าใดๆชัดเจน ยังอุบเงื่อนไขเงียบ ไม่สามารถเปิดเผยได้ พร้อมดำเนินงานของบริษัทฯ ตามคำสั่งศาลของสิงคโปร์ เร่งเจรจาขายกิจการ-เตรียมหาแหล่งเงินเพิ่มเติมเสริมสภาพคล่อง แม้กลุ่มทุนใหม่ยังลังเลเทเงินเข้าลงทุน

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Zipmex) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประชุมออนไลน์ Town Hall ซึ่งได้อัพเดตสถานการณ์และการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามคำสั่งศาลของสิงคโปร์ ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ และการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยเงื่อนไขใดๆ ได้

โดยแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ นั้น ประกอบด้วย

1. แสวงหาการเพิ่มทุนจากนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างมากในการเจรจาเงื่อนไขการร่วมทุน และติดตามคำถาม ตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทกลุ่มผู้ลงทุน แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดของเงื่อนไขการร่วมทุนดังกล่าวได้ และยังไม่สามารถระบุได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นได้เมื่อไหร่ แต่บริษัทฯ ยืนยันจะทำตามแผนทุกอย่าง โดยขณะนี้มีนักลงทุนทั้งสิ้น 3 ราย ที่มีการตรวจสอบสถานะของบริษัทในขั้นต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงหลักทางธุรกิจ รวมถึงได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบสถานะของบริษัทในขั้นที่ 2 แล้ว ทำให้บริษัทมีความมั่นใจและความคืบหน้าเชิงบวกของการเจรจาที่เกิดขึ้น

2. มองหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม หรือรับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม เช่น เงินกู้หมุนเวียน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

3. กลุ่มบริษัทฯ จะพิจารณาขายสินทรัพย์ หรือบริษัทย่อยที่มีอยู่ (หากจำเป็น) เพื่อรองรับความต้องการด้านเงินทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้บริษัทยังมีมาตรการลดต้นทุน ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน การทำให้ทีมงานมีความคล่องตัว หยุดการจ้างที่ปรึกษาและผู้ให้บริการภายนอกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด, การประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรายเดือน ซึ่งรวมถึงบริการต่างๆ ที่ไม่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ, การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการขาย (COGS) โดยที่ปรึกษาทางการเงินได้ทำงานร่วมกับบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุในแต่ละเงื่อนไขข้างต้น

สำหรับการปรับโครงการหนี้ บริษัทมีความมั่นใจที่จะมีการร่วมทุน โดยได้ทำงานร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อนำแผนดังกล่าวมาเสนอให้กับเจ้าหนี้พิจารณาต่อไป และหลังจากนั้นเจ้าหนี้จะเป็นผู้ลงคะแนนและอนุมัติแผนปรับโครงสร้างที่บริษัทได้เสนอไป จากนั้นจะมีการเสนอต่อศาลที่สิงคโปร์เพื่อให้อนุมัติแผนดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตามหากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ บริษัทฯ จะพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มบริษัทและเจ้าหนี้ของ Zipmex

"กลุ่มบริษัทฯ กำลังพิจารณาการร่วมทุน และการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ในขณะนี้ด้วยเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น และข้อจำกัดในหลายประการ ทำให้ยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามปัจจุบันการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนยังมีความราบรื่น และกลุ่มบริษัทจะแจ้งอัพเดตให้ลูกค้าทราบต่อไป เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม" นายเอกลาภ กล่าว

ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีบัญชี ZipUp ในประเทศสิงคโปร์และในไทยที่ได้มีการฝากเงินใน Z Wallet ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.หรือจากนั้นเป็นต้นไป จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ที่ได้ดำเนินการในประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่ลูกค้าออสเตรเลีย จะเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ออสเตรเลีย ส่วนลูกค้าที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ก็จะเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ อินโดนีเซีย โดยการยื่นของพักชำระหนี้ที่ศาลของสิงคโปร์ จะส่งผลถึงทุกบริษัทในเครือ ซึ่งเจ้าหนี้ทุกรายสามารถเข้าถึงเงินได้ภายหลังจากการดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น

ส่วนการขอพักชำระหนี้มีผลถึงวันที่ 2 ธ.ค.65 โดยบริษัทฯ สามารถขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ออกไปเพิ่มเติมอีกได้เช่นเดียวกัน

"ภายหลังจากการระดมทุนเสร็จสิ้น บริษัทอยากกู้คืนสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบคืนลูกค้าทั้งหมด และจะมีการกลับมาเปิดให้บริการ Z Wallet และซิปแม็กซ์สิงคโปร์ ก็จะให้บริการ ZipUp+ โดยเร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ทำให้เราจำเป็นต้องจึงเร่งเจรจาข้อตกลงกับนักลงทุนให้สำเร็จอย่างเร็วที่สุด เพื่อเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางของธุรกิจต่อไป แต่ยังไม่มีความชัดเจน และสรุปไม่ได้ในตอนนี้" นายเอกลาภ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทได้ดำเนินการ 5 ขั้นตอนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของบริษัท พร้อมเผยแผนการปรับโครงสร้างหนี้ 6 ขั้นตอน ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ ซึ่งอาจขอขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ได้ จากเดิมตามคำสั่งศาลสิงคโปร์สิ้นสุดในวันที่ 2 ธ.ค.2565

แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 6 ขั้นตอน

1.บริษัทยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้

2.บริษัทจัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างนี้

3.ศาลอนุมัติให้บริษัทเรียกประชุมเจ้าหนี้

4.แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ และอนุมัติคำร้องขอรับชำระหนี้ รวมทั้งจัดประชุมเจ้าหนี้ต่อไป

5.ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติแผนการจัดการ

6.ดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน

ซึ่งลูกค้าที่ได้มีการโอนเงินไปยังผลิตภัณฑ์ Zipup+ ของสิงคโปร์ถือเป็นเจ้าหนี้ของ ซิปเม็กซ์สิงคโปร์

สำหรับการดำเนินการ 5 ขั้นตอนที่ได้ดำเนินการแล้ว

1.กลับมาให้บริการ เทรด วอลเล็ต

นับตั้งแต่ระงับถอนเงินในวันที่ 20 ก.ค.2565 ซิปเม็กซ์ดำเนินการต่อเนื่อง เปิดใช้การเทรดเหรียญต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ และกลับเข้ามาใช้บริการเหรียญทุกเหรียญ พร้อมกับกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานประเทศอื่นๆเข้าถึงสินทรัพย์ได้ด้วย

2.ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลกับทุกประเทศที่ซิปเม็กซ์เปิดให้บริการ

สำนักงาน ก.ล.ต.ในประเทศไทย ได้มีการตรวจสอบหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์และได้ยืนยันยอดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ฝากไว้ และบริษัทให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการให้ข้อมูลต่าง ๆ

Monetary Authority of Singapore (MAS) ในสิงคโปร์ บริษัทมีการปฎิบัติตามคำขอทั้งหมดแล้ว ซึ่งซิปเม็กซ์ยังคงอยู่ในระหว่างรอการได้รับใบอนุญาตการซื้อขายในสิงคโปร์ด้วยและประเทศอินโดนีเซีย จาก Bappebti ผ่านการตรวจสอบทางการเงินในปีที่ผ่านมา ผลออกมาไม่มีผลอะไร และมีความคิดเห็นเป็นไปในแง่ที่ดี

3.เปิดรับโอกาสในการลงทุนหรือระดมทุน

การระดมทุนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซิปเม็กซ์สิงคโปร์ ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 4 ราย กำลังสรุปข้อสัญญากับนักลงทุน 3 ราย หนึ่งรายเป็นนักลงทุนต่างประเทศ และเข้าสู่การทำดีลดิลีเจนเฟส 2 ต่อไป ซึ่งมีการตัดสินใจเลือกว่านักลงทุนรายใดที่จะมีการร่วมลงทุนเร็วๆนี้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ณขณะนี้

4.ติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของลูกค้าบริษัทยืนยันว่าเราโปร่งใส ให้บริการลูกค้า 24 ชั่วโมง ไลฟ์แชท และอีเมลล์ พูดคุยกับกลุ่มลูกค้าเพื่อตอบคำถาม

5.แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมาย

ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป แต่งตั้ง KordaMentha เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และในประเทศไทย แต่งตั้ง KUDUN&Partners และประเทศสิงคโปร์ แต่งตั้ง Morgan Lewis Stamford LLC. และในประเทศอินโดนีเซีย แต่งตั้ง Hiswara Bunjamin & Tandjung เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย

เร่งเพิ่มกระแสเงินสด-ลดรายจ่าย

เร่งเพิ่มกระแสเงินสดจากนักลงทุนที่มีศักยภาพ รับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม เช่น เงินกู้หมุนเวียน และขายสินทรัพย์ของบริษัทเมื่อจำเป็น รวมทั้งมีมาตรการในการลดต้นทุน เช่นการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ทำให้การทำงานมีความคล่องตัว มีการประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งรวมถึงบริการต่างๆที่ไม่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนการขาย(COGS)
กำลังโหลดความคิดเห็น