xs
xsm
sm
md
lg

BEM พร้อมลุยก่อสร้าง "สีส้ม" มั่นใจรัฐได้ประโยชน์ เมิน BTS โชว์ราคา ลั่นเปิดส่วนตะวันออกใน 3 ปีครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



BEM มั่นใจข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นประโยชน์ต่อรัฐ ชูศักยภาพ ช.การช่างก่อสร้างเสร็จตามเป้า คาดเปิดเดินรถสายตะวันออกใน 3 ปีครึ่ง ยันการเงินมีความพร้อมลงทุนกว่า 1 แสนล้านไม่ต้องเพิ่มทุน “ทางด่วน-รถไฟฟ้า” ฟื้น ปี 65 รายได้แตะ 1.5 หมื่นล้าน

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึง การประมูลคัดเลือกการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่าบริษัทฯ ผ่านเกณฑ์ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอด้านการเงิน และรอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 เรียกเจรจาต่อไป

ทั้งนี้ มั่นใจว่าข้อเสนอของบริษัทฯ เป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนด ทั้งในส่วนของข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อสร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้


@คาดเปิดเดินรถสายตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ภายใน 3 ปีครึ่ง

หากบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานฯ บริษัทฯ พร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมี บมจ.ช.การช่าง เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

ดร.สมบัติกล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีเอกชนบางรายซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก ได้เปิดเผยว่ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม.มากกว่าที่บริษัทฯ เสนอก็เป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัทฯ ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่าข้อเสนอของบริษัทฯ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บริษัทฯ จำเป็นต้องชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไข และกติกาที่รัฐกำหนด การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่นซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัทฯ คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

ส่วนสายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐต้องสนับสนุนค่างานโยธาทุกโครงการ บริษัทฯ ยังคงมั่นใจว่าข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มของบริษัทฯ เป็นประโยชน์ต่อรัฐ การก่อสร้างและการเปิดบริการจะต้องประสบผลสำเร็จตามแผน ไม่มีการล่าช้า และต้องมีคุณภาพการบริการแก่ประชาชนที่ดี ตอบแทนคืนกลับสู่สังคมอย่างเต็มที่

“เราเชื่อมั่นศักยภาพ ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่สามารถเปิดบริการได้ก่อนกำหนดเสมอ โดยมี KPI ชี้วัดการทำงานเทียบเคียงสากล ส่วน บมจ.ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รับผิดชอบงานโยธา ไม่เคยทำงานล่าช้าและไม่เคยทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากการก่อสร้าง”


@ยันการเงินมีความพร้อมลงทุนกว่า 1 แสนล้าน ไม่ต้องเพิ่มทุน

เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการทยอยลงทุน จึงไม่มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ หรือไม่มีการเพิ่มทุน โดยการเพิ่มทุนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากสามารถบริหารกระแสเงินสดและรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าและทางด่วนมาดำเนินการได้ และมีการกู้เงินบางส่วน โดยคาดว่าในการลงทุนสายสีส้ม จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จากปัจจุบันที่ 1.6 เพิ่มไม่เกิน 2 และตามเงื่อนไข รัฐจะทยอยจ่ายคืนค่างานโยธา หลักๆ บริษัทจะมีลงทุนในส่วนของระบบและรถไฟฟ้าในช่วงแรก โดยหากมีกำไรจะมีส่วนแบ่งรายได้ให้ รฟม.


@“ทางด่วน-รถไฟฟ้า” ฟื้น ปี 65 รายได้แตะ 1.5 หมื่นล้าน

ดร.สมบัติกล่าวว่า ก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทมีรายได้ประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยปี 2562 มีกำไรประมาณ 3,200 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2563 เกิดโควิด-19 รายได้ของบริษัทฯ หายไปกว่า 60% โดยปัจจุบันปริมาณการเดินทางทั้งปริมาณผู้ใช้ทางด่วนฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้ทางเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,100,000 เที่ยว/วัน คิดเป็น 90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดโควิด คาดปลายปีจะอยู่ที่ประมาณ 1,200,000 เที่ยว/วัน เท่าช่วงก่อนโควิด

ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 320,000 เที่ยว/วัน คิดเป็น 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด คาดว่าภายในสิ้นปีจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า และคาดการณ์ว่าในปี 66 ผู้โดยสารจะใกล้ 500,000 เที่ยว/วัน เนื่องจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทาง ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหญ่ๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการ One Bangkok, Singha Estate, Samyan Mitrtown

ดังนั้น คาดการณ์ว่าในส่วนของผลประกอบการบริษัทฯ ในปีนี้รายได้ทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีกำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ 970 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีกำไรมากกว่าปี 2564 หรือกว่า 2,000 ล้านบาท

สำหรับรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินนั้น จุดคุ้มทุนที่จำนวนผู้โดยสาร 500,000 เที่ยว/วัน ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่ประเมินคุ้มทุนที่จำนวนผู้โดยสาร 500,000 เที่ยว/วันเช่นกัน โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 ปีหลังเปิดบริการ ซึ่งสายสีส้มมีปัจจัยที่จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตเร็วกว่าตอนเปิดสายสีน้ำเงิน แต่มีค่าดำเนินงานสูงกว่า เนื่องจากมีระบบใต้ดินมากกว่า

แต่บริษัทฯ ก็ได้ยืนหยัดดำเนินธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤตมาอย่างเต็มที่ โดยมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุดในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าและทางด่วนมั่นใจในการใช้บริการ และบริษัทฯ ได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ทั้งโครงการแจกหน้ากากอนามัย มอบวัคซีนไวรัสโควิด-19 และล่าสุดคือ โครงการแจกสเปรย์แอลกอฮอล์ 1 ล้านชิ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการ MRT พิชิต TCAS 66 ต่อเนื่องเป็นปี 14 ซึ่งมีน้องๆ เข้าร่วมกว่า 10,000 คน เพื่อให้น้องๆ นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น