xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : Krungthai TranXit บัตรเดบิตสำหรับคนเดินทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นับตั้งแต่บัตร EMV Contactless ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด สามารถนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถเมล์ ขสมก. กว่า 3,000 คัน, เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry, รถประจำทาง บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด และล่าสุดกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่ง เลือกที่จะชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแทนเงินสดกันแล้ว

เมื่อวันก่อน "Ibusiness review" ไปทำบัตรเดบิตใหม่ที่ธนาคารกรุงไทย พบว่ามีผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตตัวใหม่ที่ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ลูกค้าสมัครได้แล้ว คือ บัตรเดบิต Krungthai TranXit (กรุงไทยทรานซิท) เหมาะสำหรับนักเดินทาง เพราะ


1. แม้จะเป็นบัตรเดบิตพ่วงประกัน แต่ค่าธรรมเนียมบัตรถูกที่สุดในกลุ่มบัตรเดบิตของธนาคาร โดยมีค่าธรรมเนียมรายปีในปีถัดไปเพียง 100 บาท ขณะที่บัตรเดบิตธรรมดา ค่าธรรมเนียมรายปีเฉลี่ย 200 บาทต่อปี


2. มีวงเงินคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพ ที่เกิดจากการเดินทางหรือโดยสารรถสาธารณะ ที่ชำระด้วยบัตร Krungthai TranXit สูงสุด 30,000 บาท


3. มีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุทั่วไป ขยายการถูกฆาตกรรมหรือถูกลอบทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ 1,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง


4. มีโปรโมชันเงินคืน (Cashback) เมื่อใช้บัตร Krungthai TranXit แตะจ่ายค่าโดยสารหรือเดินทางครบ 10 ครั้งต่อเดือน (ไม่จำกัดขั้นต่ำ) จะได้เงินคืน 20 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ถือ 15,000 สิทธิแรกต่อเดือน ถึง 31 ธ.ค. 2565

(บัตรเครดิต 2-3 แห่ง ยกเว้นการให้คะแนนและเครดิตเงินคืนสำหรับหมวดขนส่งสาธารณะไปแล้ว ส่วนหลายแห่งที่ให้คะแนนสำหรับยอดใช้จ่าย 25 บาท เท่ากับ 1 คะแนน มูลค่า 20 สตางค์ หากชำระค่าโดยสารต่ำกว่า 25 บาท จะไม่ได้คะแนนสะสม)


Ibusiness review ทดลองใช้บัตรกับรถประจำทาง ขสมก. รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่เปิดให้ประชาชนทดลองเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตก่อนหน้านี้ พบว่าสามารถใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหา


การใช้งานบัตร Krungthai TranXit เมื่อขึ้นรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และไทยสมายล์บัส นำบัตรแตะที่เครื่อง EDC ที่พนักงานเก็บค่าโดยสาร, เรือโดยสารไฟฟ้า Mine Smart Ferry นำบัตรแตะที่เครื่อง EDC ภายในเรือ และรถไฟฟ้าสายสีแดง นำบัตรแตะที่ประตูอัตโนมัติที่มีหัวอ่านสัญลักษณ์ Contactless แยกจากประตูปกติที่สถานีต้นทาง และแตะอีกครั้งที่สถานีปลายทาง


การใช้งานบนทางด่วน สามารถนำบัตรเดบิตแตะจ่ายค่าผ่านทาง ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 5 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ศรีรัช อุดรรัถยา ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กาญจนาภิเษก ล่าสุดดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่วนมอเตอร์เวย์กาญจนาภิเษก นำข้อมูลบัตรไปลงทะเบียนบัญชี M-Flow เพื่อใช้ผ่านทางที่ด่านทับช้าง และด่านธัญบุรีได้






นอกจากนี้ ยังสามารถใช้งานเบิกถอนผ่านเครื่อง ATM สูงสุด 150,000 บาทต่อวัน โอนเงินระหว่างบัญชี สูงสุด 150,000 บาทต่อวัน และชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเครื่อง EDC สูงสุด 500,000 บาทต่อวัน สำหรับความคุ้มครอง ผู้ถือบัตรจะได้รับความคุ้มครองประกันภัยส่วนบุคคลจาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุ้มครองตั้งแต่วันที่สมัครบัตร ต่ออายุคราวละ 1 ปี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ก่อนหน้านี้ใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิต ณ เดือนกันยายน 2565 พบว่าแตะบัตรเข้าสถานีได้ แต่แตะบัตรออกจากสถานี ครั้งแรกไม่ได้ ต้องแตะซ้ำอีกครั้งถึงจะออกมาได้ ระบบจะหักค่าโดยสารช่วงหลังปิดให้บริการ แนะนำว่าให้รอประกาศอย่างเป็นทางการ ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถสมาร์ทบัส ยังไม่สามารถใช้ได้ในขณะนี้


สำหรับข้อดีของบัตรเดบิต Krungthai TranXit คือ รองรับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ได้ทั้งรถเมล์ ขสมก. ไทยสมายล์บัส และรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงไทยได้ติดตั้งหัวอ่านบัตร EMV และเครื่อง EDC แก่ระบบขนส่งมวลชนไปแล้วส่วนหนึ่ง หากสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จะช่วยให้การใช้งานบัตรครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนข้อจำกัดก็คือ นอกจากระบบขนส่งมวลชนบางแห่ง เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังไม่รองรับบัตร EMV แล้ว พบว่าเวลาแตะบัตร ไม่มีการแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตร ซึ่งจะต้องเป็นชื่อร้านค้าในเครื่อง EDC มีแต่แจ้งเตือนเงินออกและยอดเงินที่ใช้ได้ ผ่านไลน์ Krungthai Connext ถ้าอยากรู้ว่าใช้จ่ายที่ไหนต้องตรวจสอบการใช้จ่ายผ่านแอปฯ Krungthai NEXT อีกครั้ง

หากสามารถแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรได้เหมือนธนาคารอื่น โดยระบุชื่อร้านค้าได้ ตัวอย่างเช่น BMTA ZONE ... GROUP ... หรือ SRT RED LINE ... เพื่อให้รู้ว่าขณะนั้นใช้บัตรแตะจ่ายค่าโดยสารที่ไหน ซื้อสินค้าและบริการที่ใดจะดีมาก




สรุปโดยรวมก็คือ บัตรเดบิต Krungthai TranXit เป็นบัตรที่เหมาะสำหรับการเดินทางในกรุงเทพฯ ด้วยสิทธิพิเศษทั้งประกันอุบัติเหตุ ขณะโดยสารรถประจำทางหรือรถไฟฟ้าที่ชำระผ่านบัตร รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ขยายไปถึงฆาตกรรม ถูกลอบทำร้าย ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ซึ่งหลายคนใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ

ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นบัตรเดบิตพ่วงประกัน แต่ค่าธรรมเนียมรายปีกลับถูกกว่า เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเดบิตธรรมดา แต่ได้ประกันอุบัติเหตุฟรี นอกจากนี้ ในช่วงโปรโมชันยังได้เงินคืนเดือนละ 20 บาท เมื่อชำระค่าโดยสาร ค่าเดินทางผ่านบัตรฯ ครบ 10 ครั้งต่อเดือน เป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้บัตรแทนการแลกเหรียญโดยสาร หรือต้องพกบัตรโดยสารจำนวนมาก

บัตรเดบิต Krungthai TranXit มีค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่และรายปี รวม 200 บาท ปีต่อไปหักค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาท ปัจจุบันเปิดให้สมัครบัตรได้แล้ว ที่ธนาคารกรุงไทย รวม 302 สาขา ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 202 สาขา นนทบุรี 28 สาขา ปทุมธานี 23 สาขา สมุทรปราการ 23 สาขา นครปฐม 16 สาขา สมุทรสาคร 8 สาขา และสมุทรสงคราม 2 สาขา


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น