xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ ส.ค.สูงสุดรอบ 31 เดือน แต่ยังกังวล ศก.โลกถดถอยฉุดรั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.แตะ 90.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดรอบ 31 เดือน ได้อานิสงส์ส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐหนุน แต่ยังคงต่ำกว่า 100 เหตุยังมีปัจจัยกังวลอีกเพียบทั้ง ศก.โลกถดถอย ต้นทุนพุ่งทั้งค่าไฟ ค่าแรง จี้รัฐออกมาตรการดูแลผลกระทบขึ้นค่าไฟและค่าแรงให้เอสเอ็มอี เร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าว และรับมือผลกระทบเรื่องน้ำ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 
เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 90.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 89.0 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 31 เดือนนับตั้งแต่ ก.พ. 63 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่แนวโน้มดีขึ้นหลังรัฐยกเลิก Thailand Pass รวมถึงมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากความต้องการสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งภายในและการส่งออก

“แม้ว่าค่าดัชนีฯ จะปรับเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังคงต่ำกว่า 100 ชี้ถึงความเชื่อมั่นรวมยังไม่ได้สูง เพราะยังคงมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้ากลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์บางรุ่นส่งผลลบต่อการส่งออกไทย” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ยังมีความตึงเครียดช่องแคบไต้หวันซึ่งยังคงทำให้ความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนชิปมีมากขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน ทั้งเหล็ก อาหารสัตว์ อะลูมิเนียม ลอจิสติกส์ ฯลฯ ยังคงทรงตัวระดับสูง แม้ราคาน้ำมันภาพรวมชะลอตัวแต่ก็ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะประเทศตะวันตกกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวที่ปกติราคาพลังงานจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน เช่นแปรรูปอาหาร ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์เชิงบวกที่คาดว่าจะเติบโตถึง 15% ปีนี้เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตได้เช่นกัน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. ต้องการให้เร่งการออกมาตรการผลกระทบจากค่าไฟ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น การให้ส่วนลดค่าไฟเอสเอ็มอี สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ในการลดต้นทุนผู้ประกอบการ 2. อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน และ 3. ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง

 


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพบว่าอยู่ระดับ 99.5 สะท้อนให้เห็นทิศทางดัชนีฯ ที่ดีขึ้นและเริ่มเข้าไปใกล้สู่ระดับปกติได้ในเดือนตุลาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเองก็ยังคงห่วงกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 ต.ค. 65 รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟรอบใหม่ช่วง ก.ย.-ธ.ค. 65 จะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการปรับเพิ่ม และยังคงห่วงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น