xs
xsm
sm
md
lg

“โกลเบล็ก” แนะลงทุน 5 หุ้นเด่นรับวิกฤตพลังงานยุโรป-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัว Sideway Up รับตัวเลข CPI ชะลอตัว แนะจับตา FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,620-1,670 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์วิกฤตพลังงานทั้งในยุโรปและจีน ชู PRM-VL-BANPU-LANNA-AGE น่าลงทุน

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาส Sideway Up โดยต่างประเทศคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI อาจเพิ่มขึ้นแตะ 8.1% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับ 8.5% ในเดือน ก.ค. ซึ่งแสดงถึงเงินเฟ้อได้ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งหน้าอาจจะลดความร้อนแรงลงได้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ FED แสดงความเห็นว่าดัชนี CPI ที่ชะลอตัวเพียงเดือนเดียวยังไม่พอ และยังส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายไปมาก ดังนั้น จึงคาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และให้น้ำหนักเพียง 10% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI Rebound ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานหนุนให้การเคลื่อนไหวของดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,620-1,670 จุด

อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันด้านลบต่างๆ เช่น สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สัปดาห์ที่ 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค วันที่ 28 ก.ย. ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 30 ก.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยต่างประเทศ วันที่ 13 ก.ย. อียู รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ของยูโรโซนจากสถาบัน ZEW สหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค. วันที่ 14 ก.ย. สหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ส.ค. สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) อียูรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. วันที่ 15 ก.ย. สหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก ดัชนีการผลิตเดือน ก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และวันที่ 20-21 ก.ย. ประชุม FED

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่ได้ประโยชน์จากปัญหาวิกฤตพลังงานทั้งในยุโรป และจีน โดยล่าสุดจีนขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากน้ำในเขื่อนแล้งไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จึงหันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อชดเชยไฟฟ้าที่หายไปจากเขื่อน ซึ่งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวได้แก่ PRM, VL, BANPU, LANNA และ AGE

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาพรวมทองคำในเดือนที่ผ่านมา Upside จำกัด และยังไร้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจนเนื่องจากช่วงปลายเดือนถูกกดดันจากการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล โดย FED พยายามสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบเชิงลบ ความกังวลดังกล่าวสะท้อนผ่านพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นระดับ 3.30% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 109.00 กดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลงทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,690$/oz ขณะที่ SPDR เทขายต่อเนื่อง 4.93 ตัน

ดังนั้น ในเดือนนี้ราคาทองคำถูกกดดันต่อ เนื่องจากช่วงต้นเดือน คาดว่าตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง อาจทำให้ช่วงปลายเดือนที่จะมีการประชุม FOMC เฟดอาจพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.50% เป็น 0.75% ซึ่งสอดคล้องกับ Fed Watch ที่ให้น้ำหนักมากถึง 90% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และให้น้ำหนัก 10% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หากเป็นไปตามแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้กรอบดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.00-3.25% เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ

โดยทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบ 1,685-1,750$/oz โดยยังมีปัจจัยกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งยังไร้ปัจจัยหนุนใหม่ คำแนะนำไม่หลุดแนวรับข้างต้นให้ทยอยเข้าซื้อสะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น