xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : ลองแล้วหรือยัง? บัตรเครดิต-เดบิตแตะขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ในที่สุด รถไฟฟ้าสายสีแดง ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เริ่มทดลองชำระค่าโดยสารผ่าน EMV Contactless ด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เข้า-ออกในระบบรถไฟฟ้าเป็นรายล่าสุด หลังจากที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดให้ทดลองใช้บริการเฉพาะบัตรเครดิต บนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อวันก่อน Ibusiness review ทดสอบการเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยบัตรเดบิต ที่สถานีกลางบางซื่อ พบว่าสะดวก รวดเร็วกว่าที่คิด เพราะติดตั้งประตูอัตโนมัติ (AFC Gate) สำหรับบัตร EMV Contactless แยกจากผู้ถือบัตรโดยสารหรือเหรียญโดยสารต่างหาก ทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง รวมทั้งระบบจะหักค่าโดยสารจากบัตรเดบิตทันที ในอัตราค่าโดยสารปกติ




ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ติดตั้งอุปกรณ์รับชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ต่อมากรมการขนส่งทางราง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทดสอบความพร้อมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีสติกเกอร์ระบุว่า "อยู่ระหว่างทดสอบระบบ" แต่ก็เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการได้แล้ว

ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชน ที่สามารถใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตชำระค่าโดยสาร ณ เดือน ก.ย. 2565 ได้แก่ รถประจำทาง ขสมก. 119 เส้นทาง, ไทยสมายล์บัส 10 เส้นทาง, เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ส่วนต่างจังหวัด จะมีรถประจำทางปรับอากาศสาย 2, 5, 6 จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พรอร์ตเรลลิงก์ ยังไม่เปิดให้บริการ


สำหรับ EMV คือ Europay, MasterCard and VISA เป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ถือบัตรใช้งานร่วมกันได้กว่า 80 ประเทศทั่วโลก มีความปลอดภัย ช่วยลดขั้นตอนการเข้าแถวซื้อตั๋วโดยสารที่เครื่องอัตโนมัติ หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ไม่ต้องออกบัตรพลาสติกที่มีต้นทุนสูง และไม่หนักกระเป๋าสตางค์ เพราะพกแต่บัตรเครดิตเพียงใบเดียว

ประเทศสิงคโปร์ ได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “ซิมพลีโก” (Simply Go) สามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพดแตะเพื่อชำระค่าโดยสารได้เลย โดยไม่ต้องลงทะเบียน เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สามารถใช้บัตรเครดิตแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรออยสเตอร์ (Oyster) ใครที่เดินทางในเขตกรุงลอนดอนทั้งวัน ก็จ่ายเพียงแค่ค่าโดยสารสูงสุดต่อวันเท่านั้น


สำหรับประเทศไทย นำมาใช้ครั้งแรกกับรถประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 ก่อนจะขยายไปยังทุกเส้นทาง รวมกว่า 3,000 คันในปีเดียวกัน และธนาคารกรุงไทยได้ขยายไปยัง เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry, รถประจำทางชุมพลรุ่งเรือง จ.ฉะเชิงเทรา และไทยสมายล์บัส

บัตร EMV Contactless ที่สามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงก็คือ บัตรเครดิต บัตรเดบิต VISA และ MasterCard ที่มีสัญลักษณ์ Contactless (ใบพัดแนวนอน 4 ขีด)
ซึ่งคนที่มีบัตรเดบิตลักษณะดังกล่าวอยู่แล้วสามารถใช้งานได้ทันที ส่วนใครที่ไม่มีสามารถสมัครได้ที่ธนาคารทั่วไป ดูรายละเอียดค่าธรรมเนียมได้ที่ https://www.1213.or.th/App/MCPD/ProductApp/Debit




วิธีการใช้งานสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เดินไปที่ประตูอัตโนมัติ (AFC Gate) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless หรือใบพัด 4 ขีด นำบัตรเครดิต บัตรเดบิต ที่ต้องการชำระเงินแตะไปที่สัญลักษณ์ใบพัดแนวนอน 4 ขีด จนกว่าสัญญาณลูกศรไฟเขียวปรากฎ แล้วประตูเปิดออก ก็เข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทันที เมื่อถึงสถานีปลายทางให้มองหาประตูอัตโนมัติแบบเดียวกัน แล้วแตะบัตรอีกครั้ง

ระบบจะหักค่าโดยสารจากบัตรเดบิตทันที ในอัตราค่าโดยสารปกติ เริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุด 42 บาทต่อเที่ยว และในรายการใช้จ่ายผ่านบัตร ซึ่งจะแจ้งเตือนผ่านไลน์, การแจ้งเตือน (Notification) ผ่านแอปฯ ธนาคาร หรือ SMS ของธนาคาร จะระบุชื่อร้านค้าว่า "SRT RED LINE" ตามด้วยชื่อสถานีปลายทาง เช่น ลงที่สถานีรังสิต จะระบุว่า "SRT RED LINE RANGSIT" เป็นต้น




ความแตกต่างในการใช้งานบัตร EMV Contactless ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในขณะนี้ คือ ปัจจุบันแม้สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงจะให้ใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิต แต่ก็มีเว็บไซต์ mangmoomemv.com ใช้ตรวจสอบการเดินทาง ส่วนสายสีแดงแม้จะใช้ได้ตั้งแต่บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพด แต่ก็ยังไม่มีระบบตรวจสอบการเดินทางใดๆ

สำหรับคนที่ยังไม่มีบัตรเดบิตในขณะนี้ ธนาคารกรุงไทยยังได้ออกบัตรเดบิต Happy Life ค่าธรรมเนียมรายปีเพียง 50 บาทต่อปี เจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการทำบัตรเดบิตและลูกค้ากลุ่มรับเงินสวัสดิการ และเร็วๆ นี้เตรียมพบกับบัตรเดบิต Tranxit สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ พร้อมประกันอุบัติเหตุสูงสุด 30,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปีเพียง 100 บาทต่อปีเท่านั้น

ถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากพกบัตรโดยสาร และไม่ต้องเสียเวลาเข้าแถวซื้อเหรียญโดยสารอีกต่อไป


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น