xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอมั่นใจลงทุนปีนี้ฝ่าวิกฤตฉลุย 5 แสนล้านบาท กลุ่ม BCG ยังเติบโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บีโอไอมั่นใจยอดขอรับคำส่งเสริมการลงทุนปี 2565 มีลุ้นแตะ 5 แสนล้านบาทหลังโครงการใหญ่ๆ ยังทยอยมาในช่วงสิ้นปีนี้ ชี้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนใหม่เลื่อนออกไป 6 เดือนไม่มีปัญหา จับตาลงทุนกิจการกลุ่ม BCG มาแรงนับตั้งแต่ส่งเสริมปี 58 ลงทุนมีมูลค่ารวม 752,691 ล้านบาทแล้ว “ฟรุตต้า ไบโอเมด” ตัวอย่างกิจการไบโออนาคตไกล

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ภาพรวมคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาทเนื่องจากยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งในภูมิภาคส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ประกอบด้วย

“6 เดือนแรกปีนี้มีคำขอรับส่งเสริมลงทุน 784 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42% เนื่องจากในปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก มีเงินลงทุนรวมสูงถึง 75,780 ล้านบาท ซึ่งปกติการลงทุนเฉลี่ยจะอยู่ราว 400,000-500,000 ล้านบาท ปีนี้เราก็มองว่าน่าจะได้ราว 500,000 ล้านบาทได้ ส่วนปี 2566 คงอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ รวมถึงมาตรการจากภาครัฐเป็นสำคัญ” น.ส.ดวงใจกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการที่ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ (ปี 2566-2572) ที่เดิมจะเริ่มนำมาใช้ต้นปี 2566 นั้นอาจต้องล่าช้าออกไปราว 6 เดือนเนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ โดยเฉพาะการรองรับกติกาใหม่ด้านการจัดเก็บภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax Rate) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% สำหรับการลงทุนในประเทศต่างๆ ดังนั้นมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ส่วนใหญ่ถูกวางไว้ให้หมดอายุในสิ้นปีนี้จำเป็นต้องต่ออายุออกไปก่อน


ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนบีโอไอมุ่งให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนโดยเฉพาะการต่อยอดภาคเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนกิจการกลุ่ม Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่พบว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2558-มิถุนายน 2565 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีจำนวนรวม 3,320 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 752,691 ล้านบาท

“แนวคิดเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาบีโอไอมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม BCG และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก” น.ส.ดวงใจกล่าว


นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ทำการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากธุรกิจเครื่องดื่มประเภทผัก ผลไม้ของบริษัทเองด้วยการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนโครงสร้างแบคทีเรียให้เกิดเป็นพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND เพื่อเป็นวัสดุในการผลิตพลาสติกชีวภาพ วัสดุทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง โดยบริษัทมีแผนใช้วัสดุเหลือใช้เป็น 3 หมื่นตันในปี 2566 ซึ่งจะทำให้ผลิต PHA ได้เป็น 6,000 ตันต่อปีจากเดิม 600 ตันต่อปี

“เราไม่ขายเม็ดพลาสติกแต่เรามุ่งผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้เองในอุณหภูมิปกติสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขวด กล่องบรรจุอาหาร วัสดุกันกระแทก ฟิล์มถนอมอาหาร ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ Fruit Plast โดยปี 2566 จะมีการผลิตรวม 1,500 ล้านชิ้น ซึ่งบริษัทฯ เป็นรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวที่สามารถผลิตขายเชิงพาณิชย์ ตลาดหลักของเราเป็นสหรัฐฯ และตะวันออกกลาง และกิจการส่วนขยายนี้เราได้รับส่งเสริมฯจากบีโอไอ” นายรักชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น