ในที่สุด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็ถือโอกาสเปิดตัวบริการสินเชื่อบุคคลดิจิทัล ที่มีชื่อผลิตภัณฑ์ว่า "K เปย์ให้ก่อน" หรือ K PAY LATER ไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 18.6 ล้านราย โดยประกาศว่าเป็นครั้งแรกของธนาคารไทย ที่ให้จับจ่ายใช้สอยสินค้าในชีวิตประจำวัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช้อปตอนนี้จ่ายตอนนู้น”
วัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยคนตัวเล็กที่เงินช็อต ให้มีวงเงินสำรองซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่ถูกกฎหมายและเป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายรายย่อย หรืออาชีพรับจ้าง ที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ สามารถสมัครผ่านแอปฯ ได้ด้วยตัวเอง และนำวงเงินไปใช้จ่ายได้ตามร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตรกสิกรไทยกว่า 1 แสนร้านค้าทั่วประเทศ
K PAY LATER ให้วงเงินเริ่มต้น 2,000 บาท สูงสุด 20,000 บาทต่อราย นำไปซื้อสินค้าและบริการผ่านการสแกนจ่ายด้วยแอปฯ K PLUS กับ PromptPay QR Code บนเครื่องรูดบัตรธนาคารกสิกรไทย ทำรายการได้ตั้งแต่เวลา 03.00-21.00 น. ของทุกวัน ยอดซื้อขั้นต่ำ 50 บาท เลือกผ่อนชำระได้ตั้งแต่ 1 เดือน, 3 เดือน และ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี
ปัจจุบันมีร้านค้าที่รับชำระด้วย K PAY LATER ซึ่งมีเครื่องรูดบัตรธนาคารกสิกรไทยหลากหลายประเภท ทั้งห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์สำหรับบ้าน และร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอที จึงเป็นที่จับตามองว่า กระแส Buy Now, Pay Later ในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่จะช่วยให้สินเชื่อนี้เติบโตขึ้น
สินเชื่อ K PAY LATER เริ่มเปิดให้ทดลองสมัครตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. ทุกวัน ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงรายได้ ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 3 นาที โดยคุณสมบัติผู้สมัคร จะต้องเป็นสัญชาติไทย อายุ 20-70 ปี มีบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคารกสิกรไทย และมีแอปฯ K PLUS ระบบปฎิบัติการ iOS 10 หรือ Android 5.0 ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าต้องเคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน (Dip Chip) กับธนาคารมาก่อน ถ้าไม่เคยสามารถทำได้ผ่านสาขา หรือตู้ ATM ที่มีสติกเกอร์ K CHECK ID และตัวแทนธนาคาร ผลการอนุมัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด แต่ละคนจะได้รับวงเงินไม่เท่ากัน หากยังไม่ใช้สามารถเก็บไว้ก่อนได้ไม่เสียดอกเบี้ย ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
แต่หากไม่ผ่านการอนุมัติ สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้ โดยต้องเว้นระยะห่างจากวันที่สมัครอย่างน้อย 30 วัน
สำหรับวิธีใช้ ให้ไปที่ร้านค้าที่ร่วมรายการ และมีเครื่องรูดบัตรธนาคารกสิกรไทย ชำระค่าสินค้าโดยสแกนจ่ายตามปกติ แคชเชียร์จะเปิดคิวอาร์โค้ดที่หน้าจอเครื่องรูดบัตร นำโทรศัพท์มือถือเปิดแอปฯ K PLUS เลือก "สแกนจ่าย/รับ" สแกนคิวอาร์โค้ด กด "K PAY LATER" เลือกแผนการแบ่งชำระที่ต้องการ ทำรายการสำเร็จ โดยจะมีอี-สลิปไว้เป็นหลักฐาน
จากนั้นธนาคารจะจัดส่งเอกสารยืนยันการทำธุรกรรมเบิกใช้วงเงิน ผ่านอีเมลที่ใช้สมัคร K PLUS หลังทำรายการประมาณ 1 วัน สรุปยอดบัญชีทุกวันที่ 15 จัดส่งใบแจ้งยอดบัญชีผ่านอีเมลทุกคืนวันที่ 16 ของทุกเดือน ชำระทุกสิ้นเดือน โดยหักบัญชีอัตโนมัติ และจะแจ้งยอดเรียกเก็บผ่าน SMS ทุกเช้าวันสิ้นเดือน ให้สำรองเงินในบัญชี คงยอดเงินให้เพียงพอต่อการหักบัญชี
หรือถ้าใครสะดวกชำระก่อนวันที่กำหนดได้ ผ่านเมนู “สินเชื่อ” เลือก “สินเชื่อบุคคล” เลือก “K PAY LATER” และกด “ชำระสินเชื่อ” ได้ตั้งแต่เวลา 03.00-21.00 น. ทุกวัน ซึ่งหากชำระแล้วตามยอดที่เรียกเก็บ ระบบก็จะไม่หักบัญชีอัตโนมัติซ้ำอีก
K PAY LATER ไม่อนุญาตให้เบิกถอนออกเป็นเงินสด รวมถึงการซื้อสินค้าและบริการเพื่อแลกคืนเป็นเงินสด ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่อนุญาตให้แลกวงเงินออกมาเป็นเงินสด หากมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจถูกระงับใช้วงเงิน และส่งผลต่อการกู้สินเชื่อ และสมัครผลิตภัณฑ์อื่นของธนาคารในอนาคต หากจ่ายคืนช้าอาจถูกระงับไม่ให้ใช้วงเงินชั่วคราว และอาจส่งผลกระทบกับการกู้สินเชื่ออื่นๆ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย คิดแบบลดต้นลดดอก สูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคลหรือบัตรกดเงินสด คำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน จากทุกวงเงินที่มีการเบิกใช้ โดยระบบจะแสดงดอกเบี้ยทุกครั้งที่แบ่งชำระด้วย K PAY LATER และเมื่อมีการผ่อนชำระไปบางส่วนแล้ว สามารถเบิกวงเงินผ่านการสแกนจ่ายกลับมาเต็มวงเงินหรือบางส่วนได้
ด้วยดอกเบี้ยที่สูงเช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล และไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย เมื่อเทียบกับบัตรเครดิต ที่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45-50 วัน และคิดดอกเบี้ยน้อยกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้ซื้อของอุปโภค บริโภคในยามฉุกเฉินหรือจำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะคนที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ทำบัตรเครดิตได้ ก็สามารถใช้ K PAY LATER สแกนจ่ายแล้วค่อยจ่ายทีหลัง เท่าที่จ่ายไหวก็พอ
สำหรับร้านค้าที่สามารถใช้ K PAY LATER ได้ พบว่าเป็นร้านค้าที่มีสาขาทั่วประเทศ ซึ่งมีเครื่องรูดบัตรกสิกรไทยรวมกันนับแสนแห่งทั่วประเทศ รองรับกำลังซื้อจากผู้ใช้ K PLUS ที่มีมากกว่า 18.6 ล้านราย แม้จะไม่เปิดเผยว่าปัจจุบันจะมีฐานลูกค้าสินเชื่อ K PAY LATER เป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ก็ถือว่า กระแส Buy Now, Pay Later จะช่วยพลิกวงการสินเชื่อบุคคลที่ต่างจากเดิมไม่น้อยเลยทีเดียว
รายชื่อร้านค้าที่สามารถใช้ K PAY LATER ได้
กลุ่มห้างสรรพสินค้า
- ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
- ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
- ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
- ห้างสรรพสินค้า สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย)
- ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง
- ห้างสรรพสินค้าแม็คโคร
- ห้างสรรพสินค้าเอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท
กลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต
- บิ๊กซี ฟู้ดเพลส
- ท็อปส์
- ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต
- แม็กซ์แวลู
- ไทย ฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต
กลุ่มร้านสะดวกซื้อ
- ซีเจ เอ็กซ์เพรส
- ซีเจ มอร์
- บิ๊กซี มินิ
- ท็อปส์ เดลี่
- แฟมิลี่มาร์ท
- ลอว์สัน 108
- เลมอนฟาร์ม
สถานีบริการน้ำมัน
- PTT Station
ร้านจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์สำหรับบ้าน
- ซีอาร์ซี ไทวัสดุ
- ดูโฮม
- สยามโกลบอลเฮ้าท์
- อิคาโน่-อิเกีย
- บุญถาวร
ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอที
- บานาน่า ไอที
- คอมเซเว่น
- คอปเปอร์ไวร์ด
- ไอแคร์
- ไอสตูดิโอ
- ไอทีซิตี้
- เจไอบี
- คิงคอง โฟน
- เพาเวอร์บาย
- สตูดิโอ 7
- เสียวมี่
- เจ มาร์ท
- ทีจี โฟน
- แอดไวซ์ ไอที
ร้านค้าอื่นๆ
- บู๊ทส์
- ร้านขายยา P&F
- กรุงไทยออพติค
- ซูเปอร์สปอร์ต
- ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์
- เซฟดรัก เซ็นเตอร์
- เซโฟรา (ประเทศไทย)
- ไดโซ ซังเกียว Daiso
- ทรัสต์สหคลินิก
- ทอยส์ อาร์ อัส
- นายอินทร์
- ไนกี้ (ประเทศไทย)
- บริดจสโตน
- บ้านสวนมาสสาจ
- บี-ควิก
- พรเกษม
- แพนคลินิก
- โพเมโล แฟชั่น
- มัทสึโมโตะ
- มาเธอร์ มาร์เก็ตติ้ง (Ajinomoto)
- มินิโซ-เซ็นทรัลพระราม 2
- มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย
- แม็คยีนส์
- แมงโก้
- ราชเทวีคลินิก
- ร้านยากรุงเทพ
- โรงพยาบาลยันฮี
- แว่นท็อปเจริญ
- สปอร์ตเวิลด์
- อมรศูนย์รวมอะไหล่
- ออฟฟิศเมท (ไทย)
- อันเดอร์ อามัวร์-เมืองทอง
- อาดิดาส-สยาม พรีเมี่ยม เอ้าท์เลท
- เอส เอฟ ซีเนม่า
- แอลซีเค-พูม่า สโตร์
- โอนเดส์ (ประเทศไทย)
- ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล (สินค้าในเครือสหพัฒน์)
และร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีเครื่องรูดบัตรของธนาคารกสิกรไทย รายละเอียดเพิ่มเติม https://kbank.co/3SdRtJd
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)