xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.มั่นใจสถานีรถไฟใต้ดินน้ำไม่ท่วม ยันออกแบบระบบและมีอุปกรณ์ป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.มั่นใจการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพฯ หลังมีภาพข่าวฝนถล่มกรุงโซล และมีน้ำทะลักลงสถานีรถไฟใต้ดิน

ตามที่สื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข่าวกรณีน้ำท่วมพื้นที่ทางใต้ของกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 ซึ่งมีฝนตกหนักกว่า 141.5 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นการตกหนักสุดในรอบ 80 ปี ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

ในการนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงว่า โครงการรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม.ที่ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น โดยสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ทางใต้ของกรุงโซลฯ ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา จึงประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้คำนึงถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันไว้ตั้งแต่การออกแบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ถูกออกแบบให้มีความสูงมากกว่าค่าระดับน้ำท่วมสูงสุดจากสถิติในรอบ 200 ปี นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม โดยมีความสูงเพิ่มเติมอีก 1.00 เมตร (Flood Protection Board) ซึ่งจะสูงราว 2.50 เมตร จากค่าระดับถนนเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ที่พร้อมติดตั้งได้ตลอดเวลา

2. เมื่อติดตั้งแผ่นป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวแล้ว โอกาสที่น้ำจะรั่วเข้าสถานีมีน้อยมาก และ รฟม.ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำบริเวณทางขึ้น-ลง ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินอีกขั้นหนึ่ง พร้อมทั้งได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุโมงค์ สถานี และผนังสถานี ในช่วงน้ำหลากทุกวัน
    
ดังเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 ที่ รฟม.ได้ใช้ประโยชน์จากการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมดังกล่าว ทำให้โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ไม่ได้รับผลกระทบ และยังสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ

รฟม.ขอยืนยันว่าการออกแบบโครงการรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับการของ รฟม. เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานสากล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว



สถานีสวนจตุจักร ปี 2554






กำลังโหลดความคิดเห็น