xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เตรียมถกลาวแก้คอขวดเชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์" ทล.เร่งศึกษารูปแบบสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ใน 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” เตรียมยกทีมถก สปป.ลาว แก้คอขวดเชื่อมระบบขนส่งรถไฟ "หนองคาย-เวียงจันทร์" ทล.จัดงบ 10 ล้านศึกษารูปแบบสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ ลาวขอแยกสะพานรถไฟกับรถยนต์ ขณะที่เล็งร่วมมือ 5 ประเทศขยายไฮสปีด ลงใต้เชื่อมมาเลเซีย-สิงคโปร์ 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) ว่า จากการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้ 7 กระทรวง หรือทีมไทยแลนด์ เร่งสรุปปัญหาและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อนำประเด็นต่างๆ ประชุมหาข้อสรุปร่วมกับผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 2565   

นอกจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะเชิญภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมเดินทางไปดูพื้นที่สถานีหนองคายฝั่งไทยและโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) ฝั่ง สปป.ลาว ด้วย ซึ่งคณะฯ จะร่วมนั่งรถไฟลาว-จีน จากนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ด้วย 

@ทล.ใช้งบ 10 ล้านบาทเร่งศึกษาเบื้องต้นรูปแบบสะพานแห่งใหม่ภายใน 6 เดือน

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย-เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปัจจุบันประมาณ 30 เมตรนั้น 

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กรมทางหลวง (ทล.) จะทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (FS) รูปแบบและแนวทางเลือกการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ที่เหมาะสม โดยใช้งบเหลือจ่ายปี 2565 ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงอยู่ระหว่างประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 2566 หลังจากนั้นจะมีการหารือรายละเอียดกับ สปป.ลาวต่อไป 

"หลักการเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะต้องมีการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับระบบรถไฟ โดยฝ่ายไทยเห็นว่าสะพานใหม่ควรรองรับทั้งรถไฟและรถยนต์ได้ด้วย ขณะที่ทางลาวเห็นว่าควรเป็นสะพานรถไฟอย่างเดียว เพราะอาจจะมีประเด็นเรื่องงบลงทุนที่สูง ซึ่งให้รอการศึกษาเบื้องต้นออกมาก่อน การร่วมมือเชื่อมต่อระหว่าง 2 ประเทศจะคิดฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยเบื้องต้นไทยเสนอรับผิดชอบการดำเนินการศึกษาออกแบบ ส่วนการลงทุนก่อสร้างเป็นไปตามหลักระหว่างประเทศฝ่ายละ 50%" รมว.คมนาคมกล่าว

นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากรถไฟทางคู่ในประเทศจะเป็นแกนหลักในการขนส่งทางราง รวมถึงการพัฒนาสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วนด้วย ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนแจ้งว่าประสบปัญหาเครนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งก็ถือเป็นอีกคอขวดในระบบโลจิสติกส์ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะโลจิสติกส์ที่ดีต้องเร็ว สะดวก และประหยัด 

“เป้าหมาย คือต้องการทำระบบการเชื่อมต่อที่ดี การผ่านแดนการตรวจสอบ ปล่อยสินค้า ที่มีความสะดวก เป็น one stop service ไม่ต้องตรวจสอบหลายครั้ง แม้ว่าขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคายยังไม่แล้วเสร็จ แต่ไทยมีระบบรถไฟ ที่ให้บริการและสามารถเชื่อมจากหนองคายข้ามไปถึง สปป.ลาวได้ โดย รฟท.เพิ่มเที่ยววิ่งข้ามสะพานแห่งที่ 1 ซึ่งยังมีขีดความสามารถรองรับการขนส่งได้ทั้งคนและสินค้าได้”

@เล็งขยายความร่วมมือ 5 ประเทศเชื่อมไฮสปีด มาเลเซีย-สิงคโปร์ 

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมเห็นถึงการเชื่อมโยงระบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน ผ่านลาว มาถึงไทย ลงไปทางใต้ เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งตนได้เคยหารือร่วมกับรมต.คมนาคมมาเลเซีย ในการพบกันที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อหลายเดือนก่อนถึงการเชื่อมต่อระบบรางจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน  ผ่านลาว-ไทย-มาเลเซีย ไปถึงสิงคโปร์ ตนจึงเสนอว่าทั้ง 5 ประเทศควรตั้งคณะทำงานร่วมกัน และทำ Action Plan การเชื่อมต่อที่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้เคยหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแล้วในประเด็นนี้ โดยขอให้จีนเป็นแกนหลักในการหารือ ส่วนไทยนั้นเป็นประเทศตรงกลาง อยากได้ความชัดเจน เพราะหากจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายใต้แล้วมาเลเซียไม่มีการเชื่อมต่อจะเป็นคอขวดหรือไม อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุนสูงมาก การลงทุนต้องมีความคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย 

@“ลาว” ขอแยกโครงสร้างสะพานรถไฟกับรถยนต์ แบ่งเฟสก่อสร้าง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า จากการประชุมร่วมไทย-ลาว โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เรื่องเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) ในส่วนของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่นั้น ได้ข้อสรุปแนวคิดเบื้องต้นรูปแบบเป็นสะพาน โดยทาง สปป.ลาวเห็นว่าควรแยกโครงสร้างสะพานรถไฟ และโครงสร้างสะพานรถยนต์ออกจากกัน โดยมีแนวคิดคือให้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ รวมถึงจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งสะพานรถไฟและสะพานรถยนต์ไปพร้อมกัน แต่ช่วงเวลาในการก่อสร้างจะพิจารณาตามความเหมาะสม 

ลำดับแรกจะเป็นการก่อสร้างสะพานรถไฟก่อน ซึ่งจะมีทางรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน 1 เมตร และรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานกว้าง(Standard Gauge) 1.435 เมตร เมื่อสร้างสะพานรถไฟเสร็จ เปิดให้บริการได้ จะปรับการใช้งานสะพานเดิม (สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1) สำหรับรถยนต์อย่างเดียว ส่วนสะพานแห่งใหม่สำหรับรองรับรถยนต์นั้นจะมีการก่อสร้างในระยะต่อไปเมื่อสะพานเดิมมีปริมาณรถยนต์มากขึ้นจนเกิดการติดขัด 

 

 

 


กำลังโหลดความคิดเห็น