xs
xsm
sm
md
lg

ทล.เร่งจ้างสถาบันการศึกษาตรวจ "ดับเบิลเช็ก" โครงสร้างสะพานทั่วประเทศกว่า 17,000 แห่ง เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทางหลวงเตรียมจ้างสถาบันการศึกษาทำการตรวจสอบซ้ำ (Double Check) ความสมบูรณ์แข็งแรงโครงสร้างสะพานทั่วประเทศกว่า 17,000 แห่ง ทั้งสะพานกลับรถ สะพานยกระดับ สะพานลอยข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ เพิ่มเติม จากที่ทล.ตรวจสอบตามวงรอบเองแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนตามนโยบาย “ศักดิ์สยาม”

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 บนถนนพระราม 2 ร่วงหล่นระหว่างการบูรณะซ่อมแซมพื้นสะพาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อคืนวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยผู้ใช้ทางถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานที่อาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน จึงสั่งการให้กรมทางหลวงเร่งสร้างความมั่นใจผู้ใช้ทางในความปลอดภัยของโครงสร้างสะพานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีสะพานในความรับผิดชอบจำนวนกว่า 17,000 สะพาน ซึ่งมีการตรวจสอบประเมินสภาพโครงสร้างสะพาน ตามรอบเวลา และมีมาตรฐาน ขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละชนิดของโครงสร้างสะพาน และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า

โดยมีการบริหารจัดการด้วยระบบบริหารงานบำรุงรักษาสะพาน (Bridge Maintenance and Management System) หรือ BMMS ซึ่งเป็นระบบจัดการข้อมูลสะพานทั่วประเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2554 และปรับปรุง Update อยู่เสมอเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดสะพาน กระบวนการตรวจสอบสภาพโครงสร้างในแต่ละส่วน วิเคราะห์และประเมินผลด้านการให้บริการ (Condition Rating) นำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของสะพาน เพื่อใช้ในการวางแผนการซ่อมบำรุง แก้ไขปรับปรุงในระยะเร่งด่วน และระยะยาว ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานของกรมทางหลวงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยการสำรวจสภาพสะพานนั้นจะแบ่งระดับการตรวจสอบเป็น 3 ระดับ ตามรอบระยะเวลา ได้แก่

1. การสำรวจปกติ เป็นการตรวจสอบโดยทั่วไป รอบระยะเวลา 1-2 ปี

2. การตรวจสอบหลัก เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานอย่างละเอียด เพื่อทำให้รู้ถึงสภาพของสะพาน โดยผู้ตรวจสอบจะนำข้อมูลที่ตรวจสอบมาจัดวางแผนการซ่อมแซม/บำรุงรักษาให้สะพานมีระดับสภาพการใช้งานในระดับปกติ รอบระยะเวลา 7-10 ปี หรือเมื่อพบความเสียหายจากการตรวจสอบปกติ

3. การตรวจสอบแบบพิเศษ เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานในกรณีที่สะพานมีความเสียหายหรือเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลต่อการใช้งานของสะพาน หรือกรณีสะพานที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของโครงสร้าง ซึ่งการวินิจฉัยความเสียหายจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการเฉพาะกรณี การตรวจสอบอาจใช้การทดสอบแบบทำลาย (Destructive Testing) หรือการทดสอบแบบไม่ทำลาย (Nondestructive Testing) เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของโครงสร้าง และนำไปสู่การวางแผนงานบูรณะซ่อมแซมอย่างเป็นระบบต่อไป

อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า โดยปกติในทุกๆ สัปดาห์ แขวงทางหลวงทั่วประเทศ 104 แห่งมีการตรวจสอบการใช้งานสะพานในเส้นทางหลวงที่รับผิดชอบ เพื่อให้อยู่ในสภาพแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่เป็นปกติสม่ำเสมอ โดยสะพานที่เปิดใช้งานอยู่ปัจจุบันได้มีการสำรวจเบื้องต้นแล้ว ยืนยันว่าทุกสะพานมีความแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัย และยังได้สำรวจ วิเคราะห์ ประเมินผล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญกรมทางหลวงในระบบ BMMS อย่างละเอียดขึ้นไปอีกตามรอบเวลา

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ทางมากยิ่งขึ้น กรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของโครงสร้างสะพานกลับรถ สะพานยกระดับ สะพานลอยข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ และอื่นๆ บนโครงข่ายทางหลวงสายหลัก ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (Double Check) โดยจัดจ้างสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบโครงสร้างสะพานทุกจุดอย่างละเอียด ตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และได้สั่งการทุกโครงการก่อสร้าง ทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการซ่อมแซมขนาดเล็ก ให้ปิดกั้นการจราจรในขณะที่มีการก่อสร้างหรือซ่อมแซมสะพานทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้ทางและประชาชน ในการสัญจรบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ หากประชาชนผู้ใช้ทางพบเห็นถนนหรือสะพานชำรุดเสียหาย สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง ทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586 (โทร.ฟรี 24 ชั่วโมง)






กำลังโหลดความคิดเห็น