xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.เลื่อนแจงขึ้นค่าFtรอบที่2 คาดรอมาตรการรัฐช่วยประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“กกพ.” เลื่อนแถลงข่าวค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ เอฟทีรอบก.ย.-ธ.ค. เป็นครั้งที่ 2 หลังก่อนหน้านี้บอร์ดกกพ.เคาะเลือกตามแนวทางการเปิดรับฟังความเห็นให้ปรับขึ้น อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย คาดรอมาตรการรัฐช่วยเหลือประชาชน

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)สั่งสำนักงาน.กกพ.เลื่อนการแถลงขี้แจงค่าไฟฟ้าผันแปรหรือเอฟทีงวดประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565จากเดิมนัดหมายชี้แจงในช่วงเช้าวันนี้(5ส.ค.) โดยมีกระแสข่าวระบุว่ารัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการให้หามาตรการลดผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าไฟในครั้งนี้ให้กับประชาชนก่อน

“ บอร์ดกกพ. 27 ก.ค. และ3การไฟฟ้าได้ออกประกาศให้ผู้บริโภครับทราบแล้วโดยอัตราเอฟทีงวดใหม่คือ93.43สตางค์/หน่วยหรือปรับขึ้นจากงวดปัจจุบัน68.66 สตางค์ต่อหน่วยและเมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงสุด(นิวไฮ)ของค่าไฟฟ้าประเทศไทย โดยก่อนหน้ากำหนดแถลงต่อสื่อมวลชน 1 ส.ค.แต่ได้เลื่อนออกไปเพราะนายกฯต้องการให้ทบทวนแต่ทางกกพ.ได้ชี้แจงว่าการประกาศเป็นไปตามกฏหมายแล้ว ดังนั้นรัฐจึงจะหาผลกระทบแต่การแถลงครั้งนี้ยังคงไม่มีมาตรการใดๆ ในการดูแลประชาชนจึงต้องเลื่อนออกไป” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับค่าเอฟทีที่ปรับขึ้นงวดใหม่นี้เป็น 1 ใน 3 แนวทางเลือกหลักที่สำนักงานกกพ.เปิดรับฟังความเห็นให้ประชาชนเลือกตั้งแต่ 12-25 ก.ค. ซึ่งได้ข้อสรุปจะปรับเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวจะยังไม่ชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนรวม 83,010 ล้านบาท

สำหรับแนวทางที่เหลือที่เปิดรับฟังความเห็นคือ ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ.ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีรวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ.ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี

และอีกแนวทางหนึ่งคือค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ.ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีรวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ช้าลง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 69,796 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น