xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์ AEC+3 ลุยเวียดนาม ตั้งเป้าสินเชื่อ 2.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กสิกรไทยเดินหน้าต่อสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 เล็งทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมชู 3 กลยุทธ์รุกตลาดเวียดนามเต็มตัว ด้วยบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
เปิดเผยถึงแผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค AEC+3 ใน 3 ปีต่อจากนี้ว่า ธนาคารจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ทอัป และเข้าซื้อกิจการในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3

โดยมีกลยุทธ์การทำธุรกิจใน 3 แนวทาง ได้แก่ (1) รุกขยายสินเชื่อให้ลูกค้าธุรกิจ ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุนและลูกค้าท้องถิ่น (2) ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร โดยเน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform (3) พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้น และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas) ได้

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นกลยุทธ์หลักที่ธนาคารใช้ในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธนาคารได้ใช้ทั้ง 3 กลยุทธ์นั้นพร้อมๆ กันในการทำธุรกิจในสาขาล่าสุดที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม หลังจากได้รับการยกระดับจากสำนักผู้แทนนครโฮจิมินห์เมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นถึงศักยภาพของของเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ สาขานครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จะเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำ “ดิจิทัล โปรดักต์ โซลูชัน” เต็มรูปแบบ ให้บริการลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก โดยผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้งของไทยไปต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ

รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่นผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค โดยตั้งเป้าในปี 2566 มียอดสินเชื่อ 22,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย

"นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการสาขานครโฮจิมินห์มาไม่กี่เดือน ผลตอบรับค่อนข้างดี มีจำนวนลูกค้าที่ใช้ K PLUS เกือบ 1 แสนราย มีรายได้ในระดับที่ดี โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศ 50% หรือประมาณ 700 ล้านบาทจะมาจากประเทศจีน ขณะที่กลุ่มประเทศในอาเซียน กัมพูชาซึ่งเราเข้าทำธุรกิจมาแล้ว 3 ปี จะมีรายได้สูงสุด แต่เราเชื่อว่าในปีนี้สาขานครโฮจิมินห์จะขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกัน และได้ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศจะอยู่ในระดับ 5% ของรายได้รวมของธนาคารในปีหน้า จากครึ่งแรกของปีนี้ที่อยู่ในระดับ 2.2%"

อนึ่ง ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง มีสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก เครือข่ายสตาร์ทอัปในภูมิภาคที่ธนาคารลงทุนและพันธมิตรรวมมากกว่า 20 ราย และมีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน โดยมีสาขานครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นสาขาล่าสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น