xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ฟุ้งยอดขายปิโตรเลียม Q3 พุ่งต่อ เร่งประเมินทางเทคนิคจ่อประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 24

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.สผ.คาดไตรมาส 3/2565 มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นแตะ 4.81 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แย้มอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจเข้าประมูลปิโตรเลียม รอบ 24 ในไทย

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 481,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้ปริมาณปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากโครงการ G1/61 (เอราวัณ) โครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งเริ่มการผลิตเมื่อเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้ทั้งปี 2565 บริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 465,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบสูงกว่าปี 2564

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังหลังปี 2565 คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 90-105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 27-33 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยความต้องการใช้ก๊าซฯ ของโลกจะเพิ่มแตะ 392 ล้านตันต่อปี เนื่องจากยุโรปต้องการก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการซื้อจากรัสเซีย ส่วนการผลิตก๊าซฯ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากแหล่งผลิตเดิมและแหล่งใหม่ ทำให้แนวโน้มราคาก๊าซฯ จะปรับลดลงได้

ส่วนในประเทศไทย คาดว่าราคาก๊าซฯ ในไตรมาส 3 นี้จะสูงขึ้นจากไตรมาส 2/2565 และสูงสุดในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากเป็นรอบการปรับราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยสะท้อนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก บริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 3/2565 และทั้งปี 2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.40 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 สูงขึ้นเฉลี่ยต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) อยู่ที่ 29-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ


สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ได้แก่ โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) บริษัทดำเนินการเจาะหลุมผลิตเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผน โดยปีนี้ แหล่ง G1/61ผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปี 2566 จะเพิ่มเป็น 300-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และช่วงเดือน เม.ย. ปี 2567 จะแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งเป็นไปตามสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียม รอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 บริเวณทะเลอ่าวไทยภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาทางเทคนิคและยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่อย่างไร


ส่วนโครงการในมาเลเซีย ดำเนินการเจาะหลุมประเมิน ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทยังตั้งเป้าหมายจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID)ภายในปี 2566 รวมถึงมองโอกาสเพิ่มเติมในรอบการประมูลใหม่ของมาเลเซียในปีนี้ด้วย รวมทั้งมองหาโอกาสการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิกที่อยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการกลับเข้าพื้นที่ คาดว่าจะเริ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ในปี 2568

ส่วนเหตุการณ์รอยรั่วท่อส่งก๊าซฯ โครงการซอติก้า ในเมียนมานั้น เบื้องต้นตรวจสอบแล้วไม่พบการระเบิดหรือเพลิงไหม้ แต่ได้หยุดส่งก๊าซฯ มายังประเทศไทยชั่วคราว ทำให้กำลังการผลิตหายไปประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น