xs
xsm
sm
md
lg

‘ชมภารี’ เปิดเส้นทางกรมอุตุ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ในยุคดิจิทัลที่มีแอปพลิเคชันต่างๆ มากมายให้เลือกดูสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยยังควรต้องมี กรมอุตุนิยมวิทยาในการพยากรณ์อากาศที่บางครั้งแม่นยำบ้าง คลาดเคลื่อนบ้างอยู่หรือไม่ และถ้าหากยังต้องคงอยู่ จำเป็นต้องปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง!!!

‘ชมภารี ชมภูรัตน์’ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มีคำตอบถึงเหตุผลที่ประเทศไทยยังคงต้องมี ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ และสาเหตุที่การพยากรณ์ไม่แม่นยำในบางพื้นที่ เกิดจากอะไร รวมถึงความท้าทายใหม่ในการปรับ กรมอุตุนิยมวิทยาสู่ยุค 4.0 ที่จะทำให้บทบาทหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้มีแค่เพียงการพยากรณ์อากาศ แต่เป็นหน่วยงานสารตั้งต้นของทุกฝ่ายเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนแต่ละกลุ่มที่ต้องการใช้งานแตกต่างกัน

***ต้องเป็นมากกว่าพยากรณ์อากาศ

ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในเดือน มี.ค.2565 ที่ผ่านมา นโยบายที่มอบให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ คือ

‘เราต้องเป็นมากกว่าผู้ทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ เป็นมากกว่าการบอกสภาพอากาศ และฟ้าฝนว่าจะตกเมื่อไหร่ แต่บทบาทของกรมอุตุฯ ต้องบอกให้ได้ว่าในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันจะมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไรบ้าง เช่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อวางแผนในการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ กลุ่มประมง เพื่อวางแผนการเดินเรือ กลุ่มอุตสาหกรรม คนเมือง ก็ต้องการข้อมูลพยากรณ์อีกแบบหนึ่ง เป็นต้น’

ทว่าอุปสรรคที่จะทำให้กรมอุตุฯ ไม่สามารถมีข้อมูลลงลึกเฉพาะพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นคือเรื่องอุปกรณ์ในการวัดสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งมานานตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรมอุตุฯ เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลยังอาศัยใช้แรงงานจากคนในพื้นที่เข้าไปจดข้อมูลเป็นช่วงเวลา เช่น 9 โมงเช้า ครั้งเดียว


ดังนั้น ประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลเพื่อมาพยากรณ์อากาศจึงไม่แม่นยำ ประกอบกับอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มีทั่วถึง เช่น จังหวัดขอนแก่น แม้จะเป็นจังหวัดเดียวกัน แต่เป็นคนละตำบล ก็มีสภาพอากาศแตกต่างกันอย่างคาดไม่ถึง เพราะสภาพพื้นที่ที่ต่างกัน นอกจากนี้ สภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ข้อมูลที่ได้ต่อวันคาดเดายาก จึงจำเป็นต้องมีการวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์เพื่อความแม่นยำ

การนำดิจิทัลเข้ามาช่วยอย่างเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) จะเข้ามาช่วยให้การวัดสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ทำให้สามารถรายงานได้แบบเรียลไทม์ กรมอุตุฯ จึงได้ร่วมมือกับโครงการแผนบูรณาการน้ำ ในการเป็นผู้เก็บสถิติปริมาณน้ำฝนเพื่อให้รัฐบาลวางแผนการบริหารจัดการน้ำ

ขณะนี้กรมอุตุฯ อยู่ระหว่างการเขียนเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างในการติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนแบบ IoT มาทดแทนอุปกรณ์เดิมเพื่อติดตั้งยังอำเภอเป้าหมาย 1,100 จุด ภายใต้งบประมาณ 615 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์แบบ IoT นี้สามารถส่งต่อไปยังเกษตรกรเพื่อวางแผนในการทำการเกษตร ส่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในการวางแผนช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งส่งต่อประชาชนที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้

‘ชมภารี’ กล่าวว่า เอลนีโญ และลานีญา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนจากที่เคยเป็น ร่องมรสุมที่คาดว่าจะเป็นในรูปแบบที่เรียนมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ Nowcasting หรือการรายงานสภาพอากาศรายวันจำเป็นมากขึ้น อุปกรณ์ตรวจจับต่างๆ ต้องเป็นการรายงานแบบเรียลไทม์

‘การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาคนออก แต่เราต้องปรับบทบาทของเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนเป็นผู้บำรุงรักษาอุปกรณ์ที่เก่าแก่ให้ยืดอายุออกไป ดังนั้น คนกรมอุตุฯ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน’ อธิบดีกรมอุตุฯ ย้ำ

***หน้าที่สารตั้งต้น ปั้นบิ๊ก ดาต้าสู่หน่วยงานอื่น

‘ชมภารี’ ยังเล่าต่ออีกว่า กรมอุตุฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศ อากาศเพื่อการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ พยากรณ์อากาศและเตือนภัยเหตุที่เกิดจากธรรมชาติ ข้อมูลที่กรมอุตุฯ จัดทำ ต้องส่งไปยังกรมอุตุวิทยาโลก เพื่อให้เอกชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลและสร้างบริการหรือแอปพลิเคชันแก่ประชาชน

‘ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามคือทำไมต้องมีกรมอุตุฯ ในเมื่อดูบริการจากเอกชนได้นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรมอุตุฯ ของทุกประเทศต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลของประเทศตนเอง ซึ่งหากไม่มีการเก็บข้อมูลก็ไม่มีสารตั้งต้นให้เอกชนนำมาสร้างแอปพลิเคชันที่เห็นอยู่ทุกวันนี้’

ดังนั้น ความสำคัญของกรมอุตุฯ คือการมีข้อมูลมหาศาลทั้งข้อมูลปัจจุบันและสถิติย้อนหลังที่พร้อมส่งต่อให้ทุกหน่วยงาน รวมถึงประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ ซึ่งการพยากรณ์อากาศมีจำนวนตัวแปรที่เกี่ยวข้องและความซับซ้อนมาก ระหว่างตัวแปรการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่ได้จากการรวบรวม และประมวลผลข้อมูลซึ่งต้องมีอุปกรณ์ภาคพื้นดิน การตรวจบนอากาศ เรดาร์และดาวเทียม ตลอดจนการดูเมฆฝนประกอบกัน


‘บิ๊ก ดาต้าที่สำคัญนี้ทำให้กรมอุตุฯ มีโครงการจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในการวางผังเมืองร่วมกับภูเก็ต ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลสถิติน้ำ ส่วนเรื่องท่องเที่ยวจะทำงานร่วมกับเมืองพัทยา จากนั้นดีป้าเองจะมีโครงการแฮกกาธอน (Hackathon) ในการเฟ้นหาสตาร์ทอัป ซึ่งดีป้าจะมอบโจทย์จากกรมอุตุฯ ให้สตาร์ทอัปคิดเพื่อนำมาใช้ต่อไป ที่ผ่านมากรมอุตุฯ ยอมรับว่าไม่เก่งเรื่องการสื่อสารสู่ประชาชนให้เข้าใจง่ายและทันสมัย ต้องให้สตาร์ทอัปเข้ามาช่วย’

***จับมือ กสทช.เตือนภัยผ่านมือถือ

‘ชมภารี’ กล่าวว่า กรมอุตุฯ กำลังจะขยายความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการแจ้งเตือนภัย การพยากรณ์อากาศรายพื้นที่ไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องให้ กสทช.เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ในลักษณะเซลล์ บรอดแคส (Cell Broadcast) เมื่อประชาชนเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ จะได้รับข้อความเตือนภัยผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งโอเปอเรเตอร์แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบเพิ่มจึงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องงบประมาณร่วมกับ กสทช.ภายใต้งบของ กสทช.

‘ระบบนี้มีต่างประเทศใช้แล้ว 19-20 ประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ระบบคล้ายกับโปรโมชันที่เมื่อเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า แล้วได้รับเอสเอ็มเอสโปรโมชันเข้าเบอร์มือถือ ตรงนี้จะตอบโจทย์มากกว่าการแจ้งผ่านไลน์กลุ่มเพราะคนจะรู้ข่าวสารต้องเข้าร่วมกลุ่ม มีข้อจำกัด หรือก่อนหน้านี้เรามีแนวคิดให้โอเปอเรเตอร์ส่งเป็นข้อความไปยังมือถือประชาชนเลยโดยเลือกให้ตรงกับพื้นที่ ตรงนี้มีข้อจำกัด เพราะการดึงข้อมูลและส่งผ่านท่อใช้เวลานาน เช่น คนเชียงใหม่มี 10 ล้านเลขหมาย กว่าโอเปอเรเตอร์จะดึงเลขหมายแยกออกมาจากจำนวน 100 ล้านเลขหมาย เขาเคยส่งตั้งแต่เที่ยงวัน ยันเที่ยงคืน ซึ่งไม่ทันต่อเหตุการณ์ หากโครงการนี้เกิดมันจะต่อยอดไปยังการแจ้งเตือนเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เรื่องอาชญากรรม การแจ้งคนหาย ไฟไหม้ เป็นต้น’

การปรับทิศกรมอุตุนิยมวิทยาให้ทันโลก 4.0 นั้น จะสามารถทำได้หรือไม่ ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่าใครมาเป็นอธิบดี แต่มันเป็นความท้าทายหมู่ ที่เป้าหมายความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรกรมอุตุฯ ทุกคน ที่แม้ว่าจะอยู่กันมายาวนานจนคุ้นชินกับ Comfort Zone แต่เชื่อว่าการปรับตัวในยุคดิจิทัลคงทำได้ไม่ยาก หากมีทิศทางการทำงานไปในทางเดียวกันเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกกับประเทศชาติและประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น