xs
xsm
sm
md
lg

‘บีแลนด์’ รื้อแบบมิกซ์ยูสให้ทันสมัยเชื่อมสายสีชมพู บูมอาณาจักรเมืองทองธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ฤกษ์งามยามดี เมื่อ 2 ตระกูลใหญ่ "กาญจนพาสน์" ได้กลับมาผนึกกำลังในการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ ที่มีนายปีเตอร์ และ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ สองแม่ทัพใหญ่ ที่ดูแลและขับเคลื่อนธุรกิจของบีแลนด์ ที่มีแอสเสทกว่าครึ่งแสนล้านบาท ได้จดปากกาเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) บริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย 2 สถานีเข้าสู่อาณาจักรเมืองทองธานี ได้แก่ สถานีอิมแพค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท

และที่เป็นไฮไลต์ เมื่อ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของ "ปีเตอร์-พอลล์" กล่าวว่า การเซ็นสัญญาระหว่าง บางกอกแลนด์ กับนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล เป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากเส้นทางหลักเข้าไปยังเมืองทองธานี ซึ่งจะช่วยรองรับผู้อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานในเมืองทองธานี และยังรองรับผู้ที่เข้ามางานแสดงสินค้ารวมทั้งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่มาใช้บริการในเมืองทองธานี เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง และช่วยลดปัญหาการจราจรในการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้ดียิ่งขึ้น


"เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ ชาวเมืองทองธานีและผู้คนในละแวกนี้จำวันยิ่งใหญ่ให้ได้ ในการเชื่อมโครงข่ายที่มีความหมายมาก และผมว่า วันนี้ (เซ็นสัญญา) เป็นสิ่งที่ดีมากเลย นี่คือ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด ที่มีเมือง เป็นเมืองทองธานี ซึ่งผมเพิ่งรู้ว่า เมืองทองธานี มีผู้อยู่อาศัยถึง 300,000 คน และมีผู้เดินทางมาใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในศูนย์ประชุมต่างๆ ถึง 10 ล้านคนต่อปี ตัวเลขการเดินทางที่ใหญ่ขนาดนี้ ผมว่ามีความหมายมาก ระบบการจราจรที่ดีขึ้น และแม้จะเป็นโครงการรถไฟรางเดี่ยว หรือโมโนเรลแห่งแรกในประเทศไทย แต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมได้สร้างรถไฟฟ้าสายแรกๆ สายสีเขียวในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งตนมั่นใจภายในต้นปี 2566 จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แม้ไม่ตลอดทั้งเส้นทาง" นายคีรี กาญจนพาสน์ กล่าว

นายคีรี ยังอธิบายถึงศักยภาพของการเชื่อมต่อระบบกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูว่า ยังสามารถต่อเชื่อมไปยังรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย (เมืองทองธานี) ได้ในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

ทั้งนี้ บางกอกแลนด์จะสมทบเงินจำนวน 1,293.75 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง และพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเมืองทองธานีเปิดให้บริการไปจนครบสัญญา

ส่วนต่อขยายสีชมพู เสริมศักยภาพเมืองทองธานีโตอีก 10-20%

ขณะที่ นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ผมรู้สึกยินดีมาก ตื่นเต้น และดีใจที่อยู่ในโอกาสเซ็นสัญญากับ “คุณอาผมเอง” (นายคีรี กาญจนพาสน์) และเป็น “ครั้งแรก” ที่บริษัทตระกูล "กาญจนพาสน์" ทั้ง 2 บริษัท ได้ร่วมมือนำรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามาสู่เมืองทองธานี นอกจากจะช่วยให้ประชาชน ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่อาคารสำนักงานในเมืองทองธานี เช่น สำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานของตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานส่วนอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุม จะได้รับความสะดวกสบาย ด้วยการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมยังช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี

"ผมดีใจมากๆ ถ้าวันนี้คุณปู่ คุณมงคล กาญจนพาสน์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรวบรวมที่ดินในบริเวณนี้ถึง 4,000 ไร่ของเมืองทองธานี และคุณพ่อผม คุณอนันต์ กาญจนพาสน์ อดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร เป็นคนสำคัญมากที่พัฒนทุกอย่างในเมืองทองธานี ที่ทุกท่านเห็นในวันนี้ ถ้า 2 ท่านอยู่ จะภาคภูมิใจ และดีใจเหมือนผม" นายปีเตอร์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าที่เป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัทฯ มีการเติบโตในเรื่องราคาที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค โรงแรม คอสโม บาซาร์ คอสโม วอล์ก เอาท์เล็ท สแควร์ บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และคอสโม ออฟฟิศ พาร์ค มีการเติบโตมากขึ้นหลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายได้อีก 10-20% โดยภาวะปกติที่ไม่มีโควิด บริษัทฯ จะมีรายได้จากค่าเช่าปีละ 3,000 กว่าล้านบาท

ขณะที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจะมีความต้องการซื้อที่สูงขึ้นแน่นอนเช่นกัน เห็นได้จากโครงการโมริ คอนโดฯ จำนวน 1,040 ยูนิต มูลค่าการขาย 1,800 ล้านบาท ในเมืองทองธานีใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ที่บริษัทเพิ่งเปิดขายได้ 3 สัปดาห์ มียอดขายแล้วประมาณ 35% และมั่นใจจะปิดการขายโมริ คอนโดฯภายในปีนี้ และจะเริ่มให้ลูกค้ามาโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเริ่มต้นปี 2566


บริหารขุมทรัพย์กว่าหมื่นล้านบาท
พัฒนาสต๊อกที่ดิน-ที่อยู่อาศัยสร้างค้างให้เกิดมูลค่า

ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบางกอกแลนด์ ที่นายปีเตอร์ ดูแลอยู่ เราคงระมัดระวังในการลงทุน เนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้น โดยเราจะใช้วิธีการบริหารแอสเสทเดิม ทยอยเคลียร์ของเก่าที่ยังค้างคาในอดีตออกสู่ตลาด อย่างโครงการล่าสุด คือ โมริ คอนโดมิเนียม ที่ได้นำโครงการเก่ามาปรับปรุงขายใหม่ เคาะในราคาเริ่มต้น 8.49 แสนบาท หรือเฉลี่ย 30,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งราคาขายห้องชุดโมริ คอนโดฯ ได้รับการตอบรับในเรื่องของยอดขายอย่างล้นหลาม ประกอบกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ 1.99 % ระยะ 4 ปี ในโครงการ "บ้านล้านหลัง" ในราคาซื้อขายที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

"โครงการโมริ คอนโดฯ เป็นโครงการเก่าล็อตสุดท้ายในเมืองทองธานี ซึ่งเรานำมาพัฒนาใหม่ โดยคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะมีผลกระทบกับเรา นอกจากนี้ จะเร่งนำสต๊อกเก่าที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ในเมืองทองธานี และที่ดินเปล่าและโครงการทาวน์เฮาส์ที่อยู่ย่านพัฒนาการ ใกล้ห้างซีคอนสแควร์ กลับมาพัฒนาใหม่ในเร็วๆ นี้ ส่วนแปลงที่ดินแถวมักกะสันประมาณ 10 ไร่ มูลค่าที่เห็นมีการซื้อขายประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ยังไม่ทำอะไร รวมแล้วมีขุมทรัพย์ที่ดินมูลค่าหลายหมื่นล้านอยู่ในมือ" นายปีเตอร์ กล่าวถึงแผนการสร้างมูลค่าเพิ่มบนที่ดินเดิม ที่บิดา (อนันต์ กาญจนพาสน์) ได้บุกเบิกมาก่อน


ทั้งนี้ ในรายงานประจำปี 2565 ณ สิ้นเดือนมีนาคมของบริษัท บางกอกแลนด์ ระบุว่า บางกอกแลนด์มีทรัพย์สินที่เอาไว้ในการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ใน 4 ทำเลหลักๆ ได้แก่ ที่เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ กรุงเทพกรีฑา พัฒนาการ และเพชรบุรีตัดใหม่ แบ่งทรัพย์สินสำหรับการพัฒนาออกเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย โดยทรัพย์สินเด่นๆ จะเป็นที่ดินเปล่ารอการพัฒนาที่เมืองทองธานี เช่น ที่ดินเปล่าติดทะเลสาบ เนื้อที่ประมาณ 340 ไร่ มูลค่าทางบัญชี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ประมาณ 10,959 ล้านบาท และยังมีที่ดินเปล่าอีกประมาณ 4 แปลง ในเมืองทองธานี เนื้อที่รวมกันประมาณ 143 ไร่ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท

บีทีเอสปรับทิศ "ยูซิตี้" มุ่งการเงิน-เบรกอสังหาฯ

นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันถึงทิศทางธุรกิจของบริษัท ยูซิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีทีเอส กรุ๊ป ว่า การร่วมทุนกับพันธมิตรบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโนเบิล และบริษัทแสนสิริ ที่เป็นโครงการเดิมที่ทำมาช่วง 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีโครงการที่พัฒนาร่วมกับแสนสิริ อาจจะมี 1-2 โครงการ แต่จำไม่ได้แล้ว

"เราประกาศไปแล้วว่า ยูซิตี้ เราจะชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ และได้ขายโรงแรมในยุโรปไปแล้ว ซึ่งต่อไป ยูซิตี้จะมุ่งไปสู่ธุรกิจ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ทำโบรกเกอร์เท่านั้น"




กำลังโหลดความคิดเห็น