xs
xsm
sm
md
lg

“คีรี” ฟาดปม "สีเขียว" ย้ำเป็นเจ้าหนี้ไม่ใช่จำเลย ยันสัญญาจ้างเดินรถถูกต้อง จี้ กทม.เร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คีรี” ฟาดปม "สีเขียว" ย้ำเป็นเจ้าหนี้ไม่ใช่จำเลย ไม่เคยขอต่อสัมปทานแลกหนี้ จี้รัฐเคลียร์ปัญหาเร่งจ่ายหนี้ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนเปิดเผยสัญญาต้องทำตามเงื่อนไข มั่นใจทำสัญญาจ้างเดินรถถูกต้อง ปัญหาระหว่าง กทม.กับ KT เอกชนไม่เกี่ยว พร้อมท้า รฟม.เปิดราคา "สีส้ม" พิสูจน์แก้เกณฑ์ประมูลใครเสียประโยชน์

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่จะให้มีการเปิดเผยสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ในทุกสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนจะมีการเขียนไว้ข้อหนึ่ง เรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่รัฐทำสัญญากับเอกชนแล้วจะแปะสัญญาไว้กลางถนนแบบนั้นไม่ได้ และหากจะเปิดก็ต้องเปิดทุกสัญญาที่มีผลต่อประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้วการจะเปิดเผยทำได้อยู่แล้ว เพราะมีกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เป็นคู่สัญญาเดินรถสายสีเขียว โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือหุ้นใน KT 99.999% กทม.อยากจะรับรู้อะไร เรียกมาดูได้ ไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นได้อย่างไร ว่าบริษัทไม่ให้เปิดเผยสัญญา ซึ่ง กทม.รับรู้รับทราบอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่อนุมัติให้ KT มาเซ็นสัญญา

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้เป็นจำเลย แต่เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.เองก็ยืนยันว่าไม่เบี้ยวหนี้ โดยปัจจุบัน KT เป็นหนี้กับบีทีเอสซี มากกว่า 4 หมื่นล้านบาทแล้ว (รวมดอกเบี้ย) โดยแบ่งเป็น 1. ค่าจ้างติดตั้งระบบ ต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง KT ควรจ่ายได้แล้วเพราะงานเสร็จและใช้งานมา 2-3 ปีแล้ว 2. หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว เป็นสัญญาการจ้าง O&M ที่มีทั่วไป จึงมั่นใจว่าราคาที่บีทีเอสรับจ้างเดินรถสีเขียวถูกกว่า แต่มักจะมองว่าสูง เพราะเป็นราคาที่รวมค่ารถไฟฟ้า แต่สัญญาอื่นในตลาดที่มองแล้วจะน้อยกว่า เพราะมีการแยกค่าเดินรถ ค่าขบวนรถไฟฟ้าออกจากกัน 

นายคีรีกล่าวว่า บีทีเอสต้องการความเป็นธรรม ยืนยันว่าที่ผ่านมาบีทีเอสไม่เคยเสนอขอต่อสัญญาสัมปทานเพื่อล้างหนี้ เป็นไปไม่ได้ ไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งเรื่องหนี้ สภา กทม.บอกเองว่าไม่มีเงินจ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ KT ได้เชิญบริษัทไปหารือแล้ว และเชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม.ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน 2-3 เดือน ซึ่งมีทีมงานตรวจสอบสัญญาอย่างละเอียด หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง กทม.คงชี้ออกมาแล้ว ขณะที่หน่วยงานก็ควรจะรีบพิจารณาสรุปโดยเร็ว เพราะจะกระทบภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ เอกชนขาดความมั่นใจ วันนี้บีทีเอสซียังเดินรถอยู่ บริษัทไม่มีความคิดว่าจะหยุดเดินรถ เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

“ผมไม่แน่ใจว่าประชาชนห่วงเรื่องเราจะหยุดเดินรถ เพียงแต่อาจจะมีบางคนทำเป็นไม่เข้าใจมากกว่า แต่เราต่างหากที่ห่วงว่าเมื่อไหร่จะได้เงิน รัฐบาลใช้เวลาดูเรื่องนี้เกือบ 3 ปี ขณะที่บีทีเอสยังคงเดินรถต่อไป แต่หากวันหนึ่งบริษัทไม่สามารถออกเงินแทนคู่สัญญาที่เป็นรัฐบาลได้ เราไม่ใช่แบงก์ ไม่ว่ารัฐบอกจะใส่ดอกเบี้ยมาให้แต่จริงๆ ไม่อยากได้แบบนั้น สิ่งที่อยากได้คือความถูกต้อง ความยุติธรรม ซึ่งวันนี้แนวโน้มยังออกไปในแนวทางที่ยังไม่ถูกต้อง”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปฯ กล่าวว่า กรณีที่ กทม.ทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม (KT) ในส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง ตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นั้นจะมีความถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องของ กทม.และ KT ไม่เกี่ยวกับบริษัท ส่วนสัญญาที่ KT จ้างบริษัทดำเนินการต่อนั้น บริษัทจะดูความถูกต้อง เช่น ผู้แทน KT ผู้มาลงนามมีอำนาจหรือไม่ และ KT มีหลักฐานว่าได้รับมอบจาก กทม.มาแล้วถูกต้อง ส่วนกระบวนการระหว่าง กทม.กับ KT ครบถ้วนอย่างไร เอกชนไม่เกี่ยว

ส่วนการจ้างส่วนต่อขยาย 1 มีการใช้งบจาก กทม.อุดหนุน จึงเสนอผ่านสภา กทม. ส่วนต่อขยาย 2 เดิมทาง กทม.อาจจะคิดว่าไม่มีการใช้งบประมาณอุดหนุน จึงยังไม่นำเสนอสภา กทม. แต่เมื่อไม่มีการเก็บค่าโดยสาร และจำเป็นต้องใช้เงิน จึงมีการเสนอสภา กทม.ภายหลังเพื่อขอเงินอุดหนุน แต่สภา กทม.บอกว่าไม่มีเงิน ทั้งนี้ บริษัทจึงไม่กังวลว่าสัญญาจ้างนี้จะเป็นโมฆะ

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า กทม.ยังไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เนื่องจากยังมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 44 ให้เจรจาขยายสัญญาสัมปทานไปถึงปี 2602 นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากคำสั่งม.44 ไม่พบว่ามีการสั่งห้ามจ่ายหนี้ให้บีทีเอสซี ซึ่งอันนี้ทาง กทม.อาจมองว่ามีการเจรจาเรื่องต่อสัมปทาน โดยให้เอกชนรับหนี้ส่วนนี้ไปด้วย จึงยังไม่ได้มีการตั้งงบในการจ้างเดินรถไว้ และขณะนี้ต้องบอกว่า การต่อสัมปทานยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นควรจ่ายหนี้ส่วนนี้ได้

สำหรับกรณีที่ กทม.จะมีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี โดยจะสามารถทยอยชำระหนี้ให้บีทีเอสซีนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขอดูข้อเสนออย่างเป็นทางการจาก กทม.ก่อน ซึ่งบริษัทจะต้องเสนอบอร์ดบริษัท รวมถึงหารือผู้ถือหุ้นด้วย

ส่วนกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า อาจจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายเป็น 14+2 X นั้น ทางบีทีเอสรับทราบเบื้องต้น แต่ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการจาก กทม.ว่าจะดำเนินการเมื่อใด ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 59 บาททั้งส่วนสัมปทาน และต่อขยาย แต่ทั้งนี้กรณีที่จะมีการปรับอย่างไร ตรงกลางที่เป็นสัมปทานนั้นจะต้องเป็นไปตามสัญญา เพราะบีทีเอสซีได้ตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องการผลตอบแทนจากโครงการ

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสีเขียวตลอดสายมีผู้โดยสารประมาณ 7 แสนคน/วัน ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งให้บริการฟรี ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีผู้โดยสารประมาณ 2 แสนคน/วัน ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ มีเกือบ 1 แสนคน/วัน หาก กทม.จะมีการจัดเก็บค่าโดยสาร คาดว่าในช่วงแรกผู้โดยสารอาจจะลดลงบ้างแต่ไม่มาก และในระยะต่อไปจะกลับมาสู่ปกติ

@ท้าเปิดราคา "สีส้ม" พิสูจน์ มั่นใจยื่นข้อเสนอไว้รอบแรกถูกกว่า 
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป กล่าวว่า ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการไปแล้วนั้น บริษัทฯ ไม่ได้เข้ายื่นในครั้งนี้ แต่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยมีการยื่นข้อเสนอไปในการประมูลครั้งแรก แต่ไม่ได้มีการเปิดซอง ซึ่งเอกสารข้อเสนอยังอยู่ที่ รฟม. ดังนั้นหาก รฟม.มีการสรุปการประมูลครั้งนี้ออกมาแล้ว บีทีเอสจะขอเปิดราคาที่เคยเสนอไว้ให้ดูว่าเป็นอย่างไร เพราะหากว่าราคาที่ รฟม.สรุปออกมาแปลกประหลาด ก็ขอให้ทุกท่านช่วยตรวจสอบว่าใครเสียผลประโยชน์

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า จากที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่า รฟม.ยกเลิกประมูลครั้งแรกมิชอบ เท่ากับแสดงว่าการประมูลครั้งแรกยังอยู่ และไม่สามารถมี TOR 2 ฉบับพร้อมกันได้ ดังนั้นการประมูลครั้งที่ 2 จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งบริษัทได้ยื่นศาลปกครองกลางทุเลาการประมูลรอบใหม่ เพราะ TOR ไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ขณะนี้ศาลยังไม่มีคำสั่ง ซึ่งการที่ รฟม.เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอแล้วหากศาลตัดสินว่าไม่ให้ประมูลรอบใหม่ ใครจะรับผิดชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น