xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เปิดซองคุณสมบัติ "สีส้ม: ประเมินด่านแรก คาดชะลอซอง 2 หลังบีทีเอสยื่นคำร้องคุ้มครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม. เปิดซอง "รถไฟฟ้าสีส้ม" BEM และ ITD Group ประเมินด่านแรกด้านคุณสมบัติ คาดชะลอเปิดซองเทคนิค รอฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง หลังบีทีเอสยื่นคุ้มครองขอใช้ RFP เดิม

รายงานข่าวการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2565 รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ITD Group พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้เข้าร่วมในการเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่มแล้ว

ทั้งนี้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาข้อเสนอและดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป

ตามแผนงาน รฟม.คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ สายสีส้มได้ภายในปลายปี 2565  

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เนื่องจากล่าสุดทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้มีการยื่นคำฟ้องและคำร้องขอทุเลาการบังคับฯ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาและยกเลิก TOR และ RFP ของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้นำ TOR และ RFP ใหม่มาใช้ในการประมูลโครงการนี้ และกลับไปใช้ TOR และ RFP ของการประมูลโครงการครั้งเดิมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครอง โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางนั้น คาดว่าในการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิคนั้น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจจะต้องรอการพิจารณาในประเด็นการขอทุเลาจากศาลปกครองกลางด้วยว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
   
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท  

โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)










กำลังโหลดความคิดเห็น