xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันพุ่ง เหล็กแพง ดันค่าก่อสร้างรถไฟสีแดง "ศาลายา" เพิ่มเป็น 1.06 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ด รฟท.ไฟเขียวเพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงต่อขยาย “ตลิ่งชัน-ศาลายา” 470 ล้านบาท จาก 1.02 หมื่นล้าน เป็น 1.06 หมื่นล้านบาท เหตุราคาน้ำมันเพิ่มเกือบ 20% เหล็กแพงและเงินบาทอ่อน เร่งชง ครม.อนุมัติ ดันเปิดประมูล ม.ค. 66

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) จากกรอบวงเงินเดิมที่ 10,202.18 ล้านบาท เป็นวงเงิน 10,670.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 470 ล้านบาท

โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาที่อ่อนตัวลง ราคาเหล็ก ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จาก 30 บาทต่อลิตรเป็น 35 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มเกือบ 20%

คณะกรรมการราคากลางได้พิจารณาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้วจึงกำหนดกรอบวงเงินโครงการใหม่ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหลังจากนี้จะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับกรอบวงเงินโครงการต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายด้านตะวันตก มี 2 เส้นทาง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความสะดวกในการเดินทาง โดยสามารถเชื่อมสถานีกลางบางซื่อ และที่สถานีศิริราช ที่จะเป็นอีกศูนย์กลางของการเดินทางด้านระบบรางและธุรกิจเวลเนสที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งธนบุรี

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย)  โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร มี 3 L5KOU วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มี 6 สถานี วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท ได้ในเดือนธันวาคม 2565

ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร มี 6 สถานี วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท มีความพร้อมประกวดราคาในเดือนมกราคม 2566  

ทั้ง 3 เส้นทางจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 สามารถเปิดให้บริการต่อขยายเส้นทางจากรถไฟสายสีแดงที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ไปยังพื้นที่ชานเมืองทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร รองรับการเดินทางของประชาชนและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รวมถึงประชาชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลศิริราช ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางได้อย่างตรงเวลายิ่งขึ้น  

สำหรับช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571  


กำลังโหลดความคิดเห็น