xs
xsm
sm
md
lg

“บัวฉลองขวัญ” สารสกัดสร้างรายได้เกษตรกร 10,000 บาท/กิโล ผลงานวิจัยเด่น..งาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ” เป็นปีที่ 17 เวทีระดับชาติคัดสรรผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 700 ผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจ สามารถเข้าชม และรับการถ่ายทอดเพื่อนำไปต่อยอดใช้ได้จริงต่อไป


“บัวฉลองขวัญ” วิจัยช่วยสร้างรายได้เกษตรกร
ลดนำการนำเข้าภาคอุตสาหกรรม


หนึ่งในผลงานวิจัยเด่น “บัวฉลองขวัญ” ผลงานความก้าวหน้าด้านงานวิจัยไทย ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ เพราะผลิตได้เองภายในประเทศทำให้ราคาถูกลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ

ดร.ไฉน น้อยแสง จากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หัวหน้าทีมวิจัยการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับบัวฉลองขวัญ ฯ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นโจทย์วิจัยที่มาจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และได้รับทุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจาก “บัว” ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย จึงเลือก “บัวฉลองขวัญ” ซึ่งเป็นบัวที่ผสมพันธุ์โดยอาจารย์ชัยพล ธรรมสุวรรณ นักพฤกษศาสตร์ชาวไทย เมื่อปี 2541 และปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกเพื่อตัดดอกขาย เพราะดอกมีขนาดใหญ่ กลีบซ้อน มีสีม่วงสด สามารถบานได้ทนและบานได้หลายครั้ง


จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่าง ๆ ของบัวฉลองขวัญ พบองค์ประกอบที่สำคัญคือ ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) คูมาริน (coumarins) ซาโปนิน (saponins) แทนนิน (tanins) เทอร์ปีนอยด์ (terpennoids) คาร์ดิแอคโกลโคไซด์ (cardiac glycosiders) และพบว่า บัวฉลองขวัญมีปริมาณฟินอลิกรวมค่อนข้างสูง ซึ่งปริมาณฟินอลิกรวมดังกล่าวพบว่า มีรายงานว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง บัวฉลองขวัญจึงมีศักยภาพที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม

ทั้งนี้ เนื่องจากบัวในธรรมชาติ จะมีพวกโลหะหนักปนเปื้อนจากการปลูก ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย “ ดร.ไฉน น้อยแสง จาก มทร. ธัญบุรี ดร.เสาวณีย์ บัวโทน จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต และคุณกรรณิการ์ ไวยศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัท เอส เอส ยู พี ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางโอเรียนทอล ปริ้นเซส (Oriental Princess)” จึงนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช (plant cell culture technology) มาใช้เพื่อเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์จากพืชที่อาศัยอยู่ในส่วนของเนื้อเยื่อหน่ออ่อนหรือรากอ่อน ในสภาวะที่ปลอดเชื้อในห้องทดลองจนเกิดเป็นเซลล์ที่เรียกว่า “แคลลัส (callus)” ที่สามารถนำไปสกัดสารสำคัญได้ทันที โดยไม่ต้องนำไปปลูกให้เป็นต้นและออกดอกก่อนถึงจะนำมาใช้ได้ จึงเป็นการลดระยะเวลาในการผลิตสารสำคัญ ลดโลหะหนักปนเปื้อน และสามารถผลิตเป็นจำนวนมากในเชิงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงที่ทำให้เกิดเป็นแคลลัส ได้ดี โดยไม่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตเป็นลำต้นหรือออกรากอีกด้วย


สารสกัดบัวฉลองขวัญสร้างรายได้เกษตรกร กิโลละ10,000บาท

ทั้งนี้เมื่อได้สารสำคัญจากบัวฉลองขวัญ ได้มีการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีไมโคร/นาโนพาร์ทิเคิล ในการพัฒนารูปแบบการนำส่งสารสำคัญทางเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสาร เพิ่มระยะการออกฤทธิ์ต่อผิวหนัง และเพิ่มความคงตัวของสารสกัดให้ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบทางคลินิก ซึ่งประเมินจากอาสาสมัครแล้วพบว่ามีคุณสมบัติที่ดีขึ้น

“งานวิจัยนี้ได้มีการไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการปลูกนาบัวอยู่แล้ว โดยส่งเสริมให้ปลูกนาบัวฉลองขวัญ หลังจากนั้นจะรับซื้อส่วนที่เป็นเหง้านำมาฟอกให้บริสุทธิ์ก่อนนำมาเลี้ยงในอาหารของพืช ปัจจุบันชุมชนตำบลคลองนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี สามารถสร้างรายได้จากการผลิตต้นพันธุ์บัวฉลองขวัญประมาณ 200 บาทต่อต้น ขณะที่ มทร.ธัญบุรี ซึ่งร่วมกับวิสาหกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ และสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ สามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ ในราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางบริษัท เอส เอส ยู พี (ประเทศไทย) จำกัด จะรับซื้อสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญประมาณ 10 กิโลกรัมต่อเดือน”


สำหรับผลตอบรับของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสเต็มเซลล์ของบัวฉลองขวัญ ซึ่งผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท เอส เอส ยู พี (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครื่องหมายการค้า “โอเรียนทอล ปริ้นเซส” มียอดจำหน่ายในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ประมาณ 10,000 ชิ้น /เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000,000 บาท/เดือน


ผลงานวิจัยรับรางวัลการประกวดนวัตกรรม กรุงเจนีวา

ทีมวิจัย ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตร ในเรื่อง กรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากบัวฉลองขวัญ เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสารสกัดจากบัวฉลองขวัญ ยังไม่มีปรากฏในฐานข้อมูลของกองควบคุมเครื่องสำอาง จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการเอางานวิจัยไปรองรับสารสกัดจากบัวฉลองขวัญ เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอางได้ และ ผลงานนี้เคยได้รับรางวัล Bronze Award จากงาน 47th International Exhibition of Inventions of Geneva และ รางวัล Merit Award จาก International Strategic Technology Alliance ในการประกวดผลงานนวัตกรรม ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิต

ผู้สนใจ สามารถชมผลงาน “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “บัวฉลองขวัญ” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย” รวมถึงผลงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 700 ผลงาน สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02-579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ


นวัตกรรมผ้าทอไหมผสมฟางข้าว
เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

นอกจากนี้ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ยังได้นำผลงานวิจัยเด่น “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” การสร้างองค์ความรู้แปลงฟางข้าวเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ สู่ผืนผ้า อีกทั้งเกิดนวัตกรรมเครื่องจักรปั่นเส้นใยฟางผสมใยไหม เกิดนวัตกรช่วยพัฒนาอาชีพผู้ประกอบการ ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วยสร้างงาน อาชีพแก่ประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ลดต้นทุนในการทอผ้าได้มากถึง 80%

อาจารย์รัตนเรขา อัจฉริยพิทักษ์ จากสาขาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ หัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วย อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร และอาจารย์รัตนจิรา รัตนประเสริฐ สาขาพืชศาสตร์ร่วม กล่าวว่า ผลงาน “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่เป็นสหวิทยาการบูรณาการหลายศาสตร์ โดยพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)การวิจัยเริ่มในปี 2563 โดยลงพื้นที่ในชุมชนต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ เพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดจากอาชีพเดิมที่มีการทอผ้าไหมและมีสิ่งเหลือทิ้งเป็นเปลือกไหมจำนวนมาก


ด้านผู้ประกอบการ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้ายก  เล่าว่า เนื่องจากในพื้นที่มีฟางข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงคิดนำเศษใยไหมมาผสมฟางวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า โดยปีแรกคิดหาวิธีย่อยฟางข้าว ด้วยการพัฒนากระบวนการหมักเส้นใยด้วยเคมี ที่สามารถทำได้เร็วภายใน 3-5 วัน หลังจากนั้น ในปี 2564 ได้พัฒนากระบวนการย่อยเส้นใยด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากผลไม้มีฤทธิ์เปรี้ยวในท้องถิ่น ซึ่งพบว่า ใช้เวลาหมักเส้นใยนานกว่าใช้เคมี คือ ประมาณ 3เดือน แต่มีความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 80%

นอกจากนี้อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร หนึ่งในทีมงานยังได้คิดค้นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ทุ่นแรง เป็นเครื่องปั่นเส้นใยฟางผสมใยรังไหม ทดแทนการใช้เครื่องหัตถกรรมแบบเดิม ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วและผลิตเส้นใยได้เพียงพอต่อการนำไปใช้ถักทอทำผ้าผืน โดยสามารถปั่นเส้นใยได้ยาว 1 เมตรต่อ 1 นาที ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น ผ้าทอเป็นผืน เสื้อผ้าสตรีและบุรุษ สูท แจ็คเก็ต เนคไท หน้ากากผ้า หมวก กระเป๋า ของที่ระลึก และนำไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์


ชมผลงานวิจัย“ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” และผลงานวิจันอื่นจากฝีมือนักวิจัยไทยกว่า 700 ผลงาน และเวทีประชุมที่น่าสนใจ กว่า 150 เรื่อง ได้ในงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1- 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น