xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เล่นมุขไม่ฮา พานักลงทุนเครียด "บอกเพิ่งรู้ Zipmex มี Zipup หลังกิจการเจ๊ง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำหรับหน่วยงานรัฐในหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามักเดินตามหลังสถานการณ์อยู่ 1 ก้าวเสมอ แม้แต่ ก.ล.ต. เองก็เช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในสายตานักลงทุนที่มองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัยก้าวทันโลก ที่รูปแบบมักจะ Slow Life ค่อยเป็นค่อยไป ยึดถือระเบียนแบบแผนพิธีการตามแบบอย่างราชการไทยที่มีมาอย่างยาวนาน อาจไม่ทันเกมส์ของโลกการลงทุนในบางประเภทเช่นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโต ที่มีการปรับเปลี่ยน อัปเดตใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรณี่ที่เกิดขึ้นกับ Zipmex ที่ดูเหมือนว่า ทาง ก.ล.ต. ในสายตานักลงทุนนอกจากจะขยับช้าแล้ว และท่าทีที่แสดงออกมาเหมือน Zipmex นั้นเป็นลูกรัก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายของนักลงทุนผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ก.ล.ต. หรือเปล่า

โดยล่าสุดหลังจากเหตุการณ์เรื่อง ZipUp ได้มีการเสนอประธานกรรมาธิการว่าจะขอเชิญทั้งทาง ก.ล.ต. และ Zipmex มาพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ วันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนที่จะได้มาร่วมประชุมกันทั้งสองฝ่าย ทาง Zipmex ได้ออกมาชี้แจงเรื่องราวและให้แนวทางที่จะจัดการต่อไปแล้วเรียบร้อย เช่น จะมีการฟ้องร้อง Barbel และ Celsius หรือแม้แต่การหานักลงทุนมาซื้อหุ้นเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย โดยผู้ใช้งาน ZipUp+ ในประเทศไทยจำนวนประมาณ 61,000 คน ที่ได้รับความเสียหาย โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 50-55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และพบว่า ผู้ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงมีจำนวนน้อยกว่าคนที่มีมูลค่าความเสียหายน้อย

โดย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. พรรคก้าวไกลและคณะกรรมาธิการ ก็ได้ถามไปยัง ก.ล.ต. ว่าทราบเรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ และได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง มีผู้ถือใบอนุญาตรายอื่นอีกไหมที่ทำบริการในลักษณะนี้ เนื่องจากความจริงแล้ว การชักชวนให้ลงทุนด้วยภาษาไทยมีความผิด ซึ่งหากใครจำกันได้เคยมีกรณีที่ Binance ต้องยกเลิกการให้บริการภาษาไทยจากกรณีเดียวกันนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ทาง ก.ล.ต. "เพิ่งทราบ" ว่า Zipmex มีบริการที่ชื่อว่า ZipUp วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ทั้งๆ ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ขณะเดียวกันหากมองไปที่บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ถือใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจกระดานซื้อขายในไทยอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำ และผู้เสียหายจากบริการ ZipUp ก็มีมากกว่า 61,000 ราย ซึ่งแทบจะ "เป็นไปไม่ได้เลยที่ ก.ล.ต. จะไม่รับรู้เรื่องนี้" แล้วหากรับทราบ ทำไมถึงไม่ออกแถลงเตือนว่าผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นตรงกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ เป็นบริการที่มีความเสี่ยงและไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยกรณีที่ออกมาเตือนผู้ใช้ Binance ว่าควรใช้บริการกับกระดานซื้อขายที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบริการ ZipUp ก็ไม่ได้เพิ่งผุดขึ้นมาให้บริการ แต่เปิดโฆษณาอย่างโจ๋งครึ่มในทุกแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยใช้นักร้อง ดารา อินฟูลเอนเซอร์มากมายมาโปรโมทเชื้อเชิญเข้ามาลงทุน

ขณะเดียวกันหลังเกิดเรื่อง ทาง ก.ล.ต. ได้มีการตรวจสอบ Hot wallet และ Cold wallet ของผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลทุกราย และมีการสอบถามว่ามีบริการในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือไม่มีผู้ให้บริการใดที่กระทำในลักษณะดังกล่าว แต่ด้าน นายปกรณ์วุฒิ ก็ได้ถามกลับไปว่า “ปกติไม่ได้ตรวจแล้วอยู่แล้วเหรอ?” เพราะสินทรัพย์ที่อยู่ใน Hot wallet / Cold wallet และบัญชีธนาคารของกระดานซื้อขายต้องเท่ากันกับสินทรัพย์ที่ลูกค้าถืออยู่ในพอร์ต เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำสินทรัพย์ลูกค้าไปทำอย่างอื่น

ต่อมาทาง ก.ล.ต. ก็ได้มีการส่งหนังสือไปถาม Zipmex เช่นกันว่ามีบริการในลักษณะนั้นไหม แต่อย่าลืมว่า ผลิตภัณฑ์ ZipUp ของ Zipmex คือการแยกกันของสองบริษัท Zipmex Thailand จะดูแลสินทรัพย์ในส่วนของ Trade Wallet ส่วนถ้าใน Z wallet ซึ่งมีบริการ ZipUp จะเป็นการดูแลจาก Zipmex Aisa ที่อยู่ต่างประเทศซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งให้ก.ล.ต. ตรวจสอบ ดังนั้น ก.ล.ต. ตรวจสอบไป ก็ไม่พบอยู่ดี เพราะมันคนละบริษัทกัน

นอกจากนี้หากเข้าไปดูรายละเอียดของ พ.ร.บ. สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประกาศใช้มาแล้วกว่าประมาณ 4 ปี ทำให้นายปกรณ์วุฒิ แสดงมุมมองส่วนตัวต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า เนื่อหานั้นคือการดัดแปลงมาจากการลงทุนรูปแบบเดิมและเนื้อหาครอบคลุมแบบกว้าง ๆ แต่ไม่ได้เจาะลึกลงไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากพอ ซึ่งบริการทางสินทรัพบ์ดิจิทัลในเวลานั้นกับตอนนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ซึ่ง ก.ล.ต. เองสามารถออกระเบียบได้ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นออกกฎหมาย เป็นพระราชกำหนด/พระราชบัญญัติ แต่อย่างน้อยควรมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งเราอาจจะหย่อนในเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะหาก ก.ล.ต. รู้แล้วว่ามีบริการในลักษณะนี้แล้ว และตลาดโลกเริ่มโตขึ้นแล้ว อาจจะลองทำเป็นโครงการ Sandbox ที่ทดลองให้กระดานซื้อขายต่าง ๆ เช่น Bitkub Satang Pro หรืออื่น ๆ เข้ามาพูดคุยกับ ก.ล.ต. แล้วตัดกฎระเบียบและจำกัดอะไรบางอย่าง เช่น วงเงินที่ประมาณ 100 ล้านบาท พร้อมหลักประกัน ซึ่งสุดท้ายทั้งฝั่ง ก.ล.ต. และกระดานซื้อขายก็จะได้เรียนรู้กันทั้งคู่ ว่าควรไปในทิศทางไหน รวมถึงประชาชนทั่วไปก็จะรับรู้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งต่อให้เกิดเหตุการณ์ล้ม ความเสียหายก็จะอยู่ในวงแคบ ไม่มีใครต้องเจ็บตัวหนัก

ดังนั้นอาจประมวลบทสรุปได้ว่าตอนนี้ ทาง Zipmex ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างความวางใจแก่ผู้เสียหาย ด้วยการออกมาไลฟ์อัปเดทสถานการณ์ทุกวัน แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตัวเองที่ยังคงค้างอยู่ใน Zipmex จะสามารถนำกลับมาได้เมื่อไหร่ อาจต้องรอฟ้องสำเร็จหรือขายหุ้นได้ ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อนาคต ก.ล.ต. จะสามารถออกระเบียบหรือข้อบังคับ ที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อีกหรือไม่?

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.ก้าวไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น