xs
xsm
sm
md
lg

ขาดดิจิทัล Net Zero ไม่เกิด! “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ไฮไลท์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกล่าสุด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดแนวคิด “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมจัดการพลังงานที่ช่วยให้โลกยั่งยืนยิ่งกว่าเดิมล่าสุดยักษ์ใหญ่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันประเดิมยกทัพเทคโนโลยีรุ่นใหม่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกในภูมิภาค ลุยธีม 3 แกนหลัก Green, Sustainability และ Digital บนแนวคิดให้ดิจิทัล เป็นตัวปฏิวัติวงการพลังงาน มั่นใจองค์กรใหญ่ไทย 90% ตื่นตัวขานรับเทคโนโลยี ที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง กับ ตู้สวิตช์เกียร์รุ่นใหม่ GM AirSeT และ SM AirSeT ที่ไม่ใช้ก๊าซ SF6 แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน เรียกว่า SF6 Free เช่นเดียวกับอีกหลายโซลูชัน ที่จะเป็นเทรนด์ซึ่งต้องเกิดขึ้นแบบไม่มีใครเลี่ยงได้ ไม่เช่นนั้นเจตจำนง Net Zero ของไทยบนเวที COP 26 อาจเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน

เวที COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 นั้นจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน 2564 บนเวทีนี้ COP 26 ประเทศไทยแสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอย่างจริงจังโดยกำหนดเป้าหมายหลักว่าประเทศไทยจะบรรลุ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับทิศทางของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ผู้นำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันระดับแถวหน้าของโลก ด้านการจัดการพลังงาน และระบบออโตเมชัน ภารกิจหลักของบริษัทในวันนี้คือการมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้ลูกค้าเข้าใจว่า การนำดิจิทัลมาใช้ในการจัดการพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังเป็นการเปิดประตูเพื่อให้ตลาดพลังงานหมุนเวียนหรือ Renewable Energy สามารถมีบทบาทในประเทศไทยได้มากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในขั้นนำร่องเท่านั้น


บันไดสู่การเปลี่ยนโลก

นายมงคล ตั้งศิริวิช รองประธาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่ม Strategic Accounts ในประเทศไทย ลาว และเมียนมา เล่าว่าตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา ชไนเดอร์ฯ วางทิศทางบริษัทเป็นบริษัทดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ต่อเนื่องจนเป็นผู้นำเทรนด์ในวันนี้ วิสัยทัศน์ของบริษัทเน้นชัดเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และดิจิทัล (Green, Sustain และ Digital) โดยดิจิทัลจะเป็นตัวเปิดการทำงานให้ทุกส่วนเกิดขึ้นได้ เรียกว่าหนีดิจิทัลไม่พ้น หากมีใครพูดถึงการลดคาร์บอนฯ และลดการใช้พลังงานแบบรวมศูนย์

“ทั้งสองส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ดิจิทัล ที่ผ่านมา เราจึงพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีงบวิจัย และพัฒนา มีการซื้อบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี และขยายบริการโซลูชันที่ครอบคลุม โดยบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลนี้จะมาตอบโจทย์การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันและความยั่งยืนของทุกคน” มงคลกล่าว “วันนี้ ชไนเดอร์ฯ มุ่งเน้นการนำเสนอดิจิทัลโซลูชันที่นำมาปรับใช้ในตลาดพลังงานใหม่ ทั้ง Grid Infrastructure ระบบเครือข่ายไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการจ่ายไฟฟ้าแบบกระจาย (Grid) โดยจะเป็นตัวเปิดการทำงานหรือ Enabler ให้ Grid สามารถทำงานกับระบบจ่ายไฟแบบดั้งเดิมได้ โดยตอบโจทย์ได้บนแก่นวิสัยทัศน์ที่ ชไนเดอร์ฯ มองไว้คือความยั่งยืน การนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้กับโครงข่าย การเพิ่มความเสถียร และการนำข้อมูลเข้ามาพยากรณ์เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต การจัดการระบบพลังงานในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) และจัดการต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจพลังงาน สามารถที่จะทำให้โครงข่ายนำเอานวัตกรรมใหม่มาใช้ได้ในประเทศไทย”

มงคลชี้ว่าวิสัยทัศน์เหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับร่างกฎหมายควบคุมการให้บริการพลังงานในประเทศไทย เพื่อให้เกิดระบบไฟฟ้าที่เป็นดิจิทัล ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนฯสู่ชั้นบรรยากาศของโลกได้ ขณะเดียวกันก็รองรับการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองบางส่วน (Prosumer) รวมถึงระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (MicroGrid) และผู้เล่นรายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในตลาดบริการไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ผู้เล่นรายใหม่นี้จะเชื่อมต่อเพื่อจ่ายไฟที่ Grid ดังนั้นการทำ Grid Digitization หรือการนำดิจิทัลมาปรับใช้ที่ Grid จะสร้างความยืดหยุ่นในการเปิดรับให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาสู่ระบบดั้งเดิมได้

นอกจากนี้ การนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานยังให้ประโยชน์จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อคำนวณการลงทุนที่ชาญฉลาดและคุ้มทุนมากขึ้น เนื่องจากในภาวะที่การใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกหลากหลาย นำไปสู่การเพิ่มความจำเป็นในการอัปเกรดระบบ จุดนี้การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จะช่วยให้เกิดการลงทุนกับโครงข่ายที่ชาญฉลาดมากขึ้น ทำให้องค์กรลงทุนอย่างถูกที่ถูกเวลา

ในอีกด้าน บริษัทได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ที่เน้นสานต่อพันธกิจเรื่องลดโลกร้อนสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นั่นคือ ตู้สวิตช์เกียร์รุ่นใหม่ GM AirSeT และ SM AirSeT ที่ไม่ใช้ก๊าซ SF6 ในตู้และอุปกรณ์ย่อยภายในเพื่อเป็นฉนวนอีกต่อไป แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน เรียกว่า SF6 Free คู่กับการแสดงกรณีศึกษาโครงการนำร่องที่ชไนเดอร์ฯ ดำเนินการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในส่วน SmartGrid รวมถึงการทำ MicroGrid กับ EGAT และการทดสอบระบบ VPP หรือ Virtual Power Plant ซึ่งเป็นระบบ Distributed Energy Resources (DER) Management เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อกับแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้มีคุณค่าสูงสุด ระบบดังกล่าวเป็นโครงการของ EGAT ที่ดำเนินการในรูปแซนด์บอกซ์ ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ชไนเดอร์ฯ ได้ทำในไทย เพื่อสนับสนุนลูกค้าด้านพลังงานและกรีนดิจิทัล

สำหรับส่วน eMobility หรือยานยนต์พลังงานสะอาด ชไนเดอร์ฯ จัดกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับ DER Management เนื่องจาก EV เป็นกลุ่มพลังงานทดแทน ที่เข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็มส์ของกรีน โดยแทนที่จะให้ความสำคัญกับการชาร์จไฟให้ยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ชไนเดอร์ฯ ยังให้ความสำคัญกับระบบจัดการโหลดไฟฟ้าในอาคาร ซึ่งจะเน้นจัดการการชาร์จเพื่อลดพีคโหลด ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและประหยัด ลดต้นทุน ทั้งหมดถือเป็นเทรนด์และเป็นส่วนหนึ่งของแผน Building of the Future ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการพลังงานในอาคารแห่งอนาคต

“เนื่องจากต่อไปจะมียานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น กลุ่มอาคารและห้างสรรพสินค้า จะต้องปรับระบบ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของรถ EV ซึ่งชไนเดอร์ฯ ประเมินแล้วว่าจะมีความต้องการไฟฟ้า ที่เกิดจากการชาร์จรถโดยจะสูงถึง 40% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งอาคาร สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งนี้เกือบจะเทียบเท่ากับพลังงานที่อาคารทั่วไปใช้งานกันตามปกติ ดังนั้น เรื่องการจัดการโหลดไฟฟ้า เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพต่าง ๆ และเรื่องความสามารถในการฟื้นระบบกลับมาให้บริการปกติ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้”


สำหรับตลาดไทย ชไนเดอร์ฯ ชี้ว่าลูกค้าองค์กรรายใหญ่กว่า 90% ล้วนตื่นตัวสนใจปรับใช้ระบบประหยัดพลังงานทุกราย โดยเฉพาะกลุ่มอาคารใหญ่และสำนักงานที่มีความต้องการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับรถ EV พบว่าบางส่วนเริ่มวางแผนพัฒนาระบบชาร์จและโครงข่ายแล้ว เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณูปโภคในประเทศ ที่เริ่มพัฒนาโครงการนำร่องและทำแซนด์บอกซ์ ถือได้ว่าทุกคนกำลังขยับ รับรู้ และมีความต้องการเริ่มนำร่องบนความท้าทาย คือการเลือกเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรในช่วงต้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการจัดตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น ในด้านการเงินและในด้านอื่น การตั้งจุดประสงค์จึงมีความสำคัญ กับการใช้เทคโนโลยีสูง

เพื่อตอบความท้าทายนี้ ชไนเดอร์ฯ ได้พยายามนำเสนอแพลตฟอร์มกลาง ที่ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลเดี่ยวและทำงานได้แบบเรียลไทม์ เชื่อว่าจะสร้างประสิทธิภาพ ทำให้เป็นระบบที่ตอบโจทย์ และรองรับการขยายได้ในอนาคต

ไม่เปลี่ยนได้ไหม?

หากลงลึกถึงความสำคัญของการมีซอฟต์แวร์ เพื่อจัดการแหล่งพลังงานย่อย ที่เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบเดิมและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีเทคโนโลยีมาจัดการพลังงาน ชไนเดอร์ฯ ชี้ว่าผลเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น จะเลยเถิดมากกว่าปัญหาไฟตกธรรมดา

“ถ้าเปรียบกับระบบเดิม เราจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าตามปกติ ทุกส่วนจะรับพลังงานมาจากโรงไฟฟ้า เมื่อมี DER Management ผู้ใช้จะผลิตไฟได้ Prosumer จะมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์ม ไม่ใช่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าเข้าเมือง แต่จะอยู่กับพื้นที่ใกล้ส่วนที่ติดตั้ง การส่งไฟฟ้าจะเปลี่ยนไป เพราะจะอยู่ใกล้สถานที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงสามารถส่งไฟฟ้าได้ทุกทิศทาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความยากลำบากในการไม่ทราบว่าไฟฟ้าวิ่งอย่างไร บางครั้งเกิดโอเวอร์โหลดในสายไฟได้ หรือเกิดการเว้นช่วงมีไฟบ้างไม่มีไฟบ้างในช่วงไร้แสงอาทิตย์ ความไม่สม่ำเสมอนี้ทำให้คาดการณ์ได้ยาก ว่าที่แท้จริงแล้วมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการใช้งานหรือไม่”

ทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือดิจิทัลโซลูชันใน Grid ซึ่งจะทำให้มองเห็นข้อมูลการจ่ายไฟได้ ขณะเดียวกันก็รองรับ Prosumer ในอนาคตที่จะส่งพลังงานเข้าไปในระบบ VPP ก่อนทำการส่งไฟฟ้าเข้าไปที่ตลาดซื้อขายพลังงาน ผลคือผู้ใช้ไฟจะสามารถรับรู้ได้ว่ากำลังซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใด เนื่องจากหากติดตามแหล่งพลังงานไม่ได้ ก็จะประกาศจุดยืนการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ได้


ดังนั้น ดิจิทัลแพลตฟอร์มจะมีบทบาทในการช่วยให้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้ และตอบโจทย์กลุ่มผู้ต้องการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเป็นหลัก ขณะเดียวกันเมื่อมีการจัดการได้ จะผลักดันให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายเร็วขึ้น เนื่องจากยังเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดเรื่องความไร้ประโยชน์ของไฟเหลือใช้จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อาจต้องทิ้งไปเมื่อไม่มีการใช้งานหรือเกินจากระบบเก็บแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ไม่เกิดการใช้งานที่ได้ประโยชน์สูงสุด

“เรากำลังสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าเทรนด์นี้เลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิด ไม่เช่นนั้น พันธกิจ COP27 จะเกิดได้อย่างไร”

นอกจากนี้ การพยากรณ์ยังสำคัญมากในระบบ Microgrid เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอในการผลิตไฟ ข้อมูลที่จำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์นั้นครอบคลุมข้อมูลพยากรณ์อากาศด้วย เพื่อเข้าถึงแนวโน้มความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ในแต่ละวัน ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับ Microgrid และไซต์ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็นหลัก Microgrid จึงเป็นตัวควบคุมที่สามารถยกระดับให้ระบบมีเสถียรภาพสูงที่สุด โดยในบางช่วงที่พลังงานสะอาดในระบบมีไม่เพียงพอ Microgrid จะรู้ว่าต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า เพื่อรักษาการจ่ายไฟไว้จุดนี้จะเป็นระบบบริหารจัดการที่ยากมาก หากจัดการด้วยบุคคล แต่โซลูชันดิจิทัล จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงและง่ายในการบริหารจัดการ ไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องวนกลับไปใช้พลังงานฟอสซิล

“ทั้งหมดนี้เป็นการสานต่อเป้าหมายใหญ่ของชไนเดอร์ฯ เรื่องการเป็นกลางทางคาร์บอนฯ ภายในปี 2025 และการเป็นเน็ตซีโร่ในปี 2030 ซึ่งหมายถึงการไม่ปล่อยคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศเลย สำหรับประเทศไทยที่วางเป้าหมายไว้ว่า 2030 จะเป็น Net Zero ก็ต้องลดใช้คาร์บอนฯ จนไม่มีการปล่อยคาร์บอนเลย เชื่อว่านี่คือการเดินทางที่ยาวนาน แต่จะเป็นเทรนด์โลกที่ต้องไป ดังนั้น ชไนเดอร์ฯ จึงนำเสนอเทคโนโลยีที่สนับสนุนพลังงานสีเขียว และสนับสนุนพันธมิตรในไทยให้ทำได้ตามเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ อันนี้เป็นเป้าหมายหลักของเรา”

ปัจจุบัน ชไนเดอร์ฯ ยืนยันว่าบริษัทมีพาร์ทเนอร์ทั่วโลกเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมดิจิทัล โดยในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในหลายโครงการ และทุกครั้งที่นำเสนอจะมีองค์กรที่สนใจ ทั้งในกลุ่มการไฟฟ้า สมาร์ทกริด ไมโครกริด กลุ่ม VPP ระบบ DER Management ซึ่งคลุมทั้งส่วนการไฟฟ้า ส่วนอาคาร ระบบชาร์จ กลุ่มผู้สร้างอาคารหรือบริษัทอสังหาฯ กลุ่มโรงงานอัจฉริยะ และกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีโอกาสเติบโตสูงเพราะมีการใช้งานดาต้ามากขึ้น

เปลี่ยนโลกอย่างไร?

สำหรับเทคโนโลยีล่าสุดที่ชไนเดอร์ฯ เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยช่วง ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ตู้สวิตช์เกียร์ GM AirSeT และ SM AirSeT ที่มีจุดเด่นคือการใช้อากาศบริสุทธิ์แทนก๊าซ SF6 การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยให้ระบบไฟฟ้า อุตสาหกรรมและอาคารลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาและการดำเนินงาน จุดนี้ชไนเดอร์ฯ เชื่อว่าการเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ Medium Voltage ทั่วโลก จะทำให้เทคโนโลยีใหม่สามารถแทนที่เทคโนโลยีเก่าได้ทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า

“นี่คือการปฏิวัติระบบไฟฟ้าก้าวที่ยิ่งใหญ่ก้าวหนึ่ง โดยการไม่ใช้ก๊าซ SF6 ในตู้และอุปกรณ์ย่อยภายในเพื่อเป็นฉนวนอีกต่อไป แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน นับว่าเป็นความท้าทายของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในการคิดค้นการใช้อากาศบริสุทธิ์แทนก๊าซ SF6 แต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวมและขนาดของตู้ขนาดเท่าเดิม” มงคลอธิบาย

นอกจากนี้ ชไนเดอร์ฯ ยังมุ่งนำเสนอ EcoStruxure Building แพลตฟอร์มสำหรับอาคารที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพลังงานในอาคารให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืน สามารถเชื่อมต่อกับระบบ EV Charger เพื่อทำการมอนิเตอร์และควบคุมได้จากที่เดียว สำหรับ EV Charger ใหม่ที่มีระบบจัดการโหลดไฟฟ้า ชไนเดอร์ฯ มองเป็นจุดแข็ง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมในวันที่อาคารทั่วโลก ต้องจัดการรองรับความต้องการชาร์จอีวีที่เกิดขึ้น ซึ่งความท้าทายไม่ได้หยุดอยู่แค่ตึก แต่ยังจะต้องขยายไปถึงการไฟฟ้า และต้องเตรียมปรับเปลี่ยนที่ Grid ของการไฟฟ้าด้วย

“ต้องครอบคลุมตลอดกระบวนการจ่ายไฟจากต้นทางมาถึงอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟตก ลดกระบวนการที่ยุ่งยากและป้องกันความเสี่ยง เป็นความจำเป็นที่ทุกส่วน ทุกหน่วยงานจะต้องก้าวไปพร้อมกัน”

ในภาพรวม ชไนเดอร์ฯ มองพื้นที่หลักครบทั้ง 3 ส่วนคือในระดับ EcoStruxure ซึ่งครอบคลุมทั้งหมดทั้งในอาคาร ระดับ Grid และระบบบริหารพลังงาน โดยช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ชไนเดอร์ฯ เชื่อว่า Building of the Future จะมีบทบาทสูงในโลกพลังงาน


“10 ปีที่ผ่านมา เมื่อมี EV และมีโครงข่ายชาร์จอัจฉริยะออกมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วที่โซลาร์เซลล์บูมมาก แต่ตอนนี้มี Microgrid และ Smartgrid เข้ามาแทน ตอนนี้ภาพชัดแล้วว่า EV จะมา เห็นจากทิศทางประเทศไทยปี 2030 ที่ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 แปลว่าจะมีรถ EV ล้านคันบนท้องถนน ดังนั้น ทั้งระบบนิเวศน์ ทั้งโครงสร้างจาก Grid การไฟฟ้าที่จ่ายไฟมา และกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนฯ จากฟอสซิล ทุกอย่างจะเปลี่ยนภาพไปทั้งหมด เป็น Grid of the Future อย่างแท้จริง” มงคลทิ้งท้าย “ตลาดที่เปิดกว้าง จะทำให้ Prosumer และการใช้พลังงานสะอาดเกิดได้เร็วขึ้นในประเทศไทย เทคโนโลยีเหล่านี้ จะเป็นตัวปลดล็อค ชไนเดอร์ฯ จึงเตรียมทุกอย่างให้พร้อมในการให้บริการทั้งผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเติมเต็มให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพลังงานสะอาด”
กำลังโหลดความคิดเห็น