xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผย “ซอสและเครื่องปรุงรส” มีโอกาสส่งออกตลาดเนเธอร์แลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย “ซอสและเครื่องปรุงรส” ของไทยมีโอกาสขยายตลาดในเนเธอร์แลนด์ หลังความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการนำไปจิ้มกับอาหารกินเล่น และใช้ปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.ชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ถึงโอกาสการขยายตลาดซอสและเครื่องปรุงรสไทยในเนเธอร์แลนด์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น หลังในช่วงโควิด-19 ชาวดัตช์หันมาทำอาหารบริโภคที่บ้านเพิ่มมากขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีความต้องการซอสและเครื่องปรุงรสของไทยเพิ่มขึ้น ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า เทรนด์การบริโภคอาหารของชาวดัตช์ ไม่เพียงแต่นิยมอาหารที่ทำจากพืช แต่ยังชอบรับประทานอาหารกินเล่น โดยเฉพาะของทอด ทำให้มีความต้องการซอสจิ้มต่างๆ เพิ่มขึ้น และจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้ร้านอาหารต้องปิดบริการชั่วคราว มีการทำงานที่บ้าน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวดัตช์มีการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น จึงมีความต้องการวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส และซอสต่างๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โดยซอสและเครื่องปรุงรสที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ซอสพริก ซอสพริกศรีราชา ซอสพริกศรีราชาผสมมายองเนส น้ำจิ้มเปาะเปี๊ยะ น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มซีฟูด น้ำจิ้มบ๊วย น้ำยำ น้ำสลัด น้ำปลาหวาน เป็นต้น และซอสปรุงรสประเภทต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วดำหวาน น้ำส้มสายชู ซอสผัดไทย ซอสผัดกะเพรา ซอสบาร์บีคิว ซอสผัดพริกไทยดำ ซอสผัดเปรี้ยวหวาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ยังรายงานอีกว่ามีสินค้าไทยหลายรายการกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติไทย มีรสเผ็ด หรือมีพริก ซอสพริก หรือซอสรสเผ็ดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซอสศรีราชา ซอสสำหรับจิ้มหรือรับประทานคู่กับอาหาร โดยเฉพาะ Sriracha Mayo และขนมขบเคี้ยวที่มีการพัฒนารสชาติเป็นรสซอสศรีราชา รส Thai Sweet Chili Sauce เป็นต้น ที่ผลิตออกมาเพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาด

นายภูสิตกล่าวว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคชาวดัตช์ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และเนเธอร์แลนด์เป็นสังคมผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคมีปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าโดยมุ่งเน้นด้านราคาและคุณภาพเป็นหลัก ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพและมาตรฐานการผลิต คุณภาพของส่วนผสมและวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ปราศจากสารปนเปื้อนและสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ และควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและแตกต่าง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของรสชาติความเป็นไทย บรรจุภัณฑ์ควรทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานได้ง่ายและสะดวก มีหลายขนาดเพื่อความเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มร้านอาหาร และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และควรมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์บนฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ซอสของไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น สามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ในปี 2564 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารไปเนเธอร์แลนด์มูลค่า 56.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.80% โดยประเทศคู่ค้าที่เนเธอร์แลนด์นำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม โปแลนด์ สหราชอาณาจักร และไทย โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารของไทยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และมีการวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตหลักของเนเธอร์แลนด์ เช่น Albert Heijn , Jumbo , Plus , Aldi , Lidl ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ไทย และผลิตภัณฑ์ที่เป็น Private Label Brand แต่ผลิตในประเทศไทย และยังมีการวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตเอเชียและร้านขายสินค้าเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น