xs
xsm
sm
md
lg

"ดนันท์" วอนรัฐรักษา "ไปรษณีย์ไทย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดเหตุผล ความจำเป็นและความคงอยู่ของไปรษณีย์ไทย ‘ดนันท์ - บิ๊ก ไปรษณีย์ไทย’ ชี้รัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลโลจิสติกส์ เพื่อให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไปรอด ป้องกันการเผาเงินทุ่มตลาดให้บริการต่ำกว่าทุนของต่างชาติ ที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยกระอัก เพราะต้องดูแลทั้งการให้บริการเชิงสังคมทุกพื้นที่ของประเทศที่เดิมได้รับการอุดหนุนจากการให้บริการเชิงพาณิชย์ที่ยังพอมีกำไร แต่หลังจากต่างชาติเล่นสงครามราคาที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพบริการอย่างทุกวันนี้ ไปรษณีย์ไทยที่เป็นกระดูกสันหลัง เป็นความมั่นคงของชาติด้านโลจิสติกส์ อาจเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ในเร็ววันนี้

สงครามราคาในตลาดขนส่งพัสดุทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นเรด โอเชียนสีเข้ม ที่ไม่ได้สะท้อนราคาต้นทุนอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ที่มีเงินทุนหนาพร้อมที่จะเผาเงินของตนเองเพื่อผลทางอ้อมไปฟันกำไรในตลาดหุ้นมากกว่าการทำธุรกิจที่ต้องสะท้อนการลงทุนและกำไรอย่างแท้จริง ทำให้การขนส่งพัสดุในประเทศไทยเกิดดรามาขึ้นบ่อยครั้งถึงปัญหาคุณภาพในการให้บริการ เช่น การส่งของผิดกฎหมาย สินค้าเสียหาย สูญหาย รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของลูกจ้างที่ต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลือกไม่ได้ว่าจะถูกลดต้นทุนจากค่าแรงพร้อมกับงานที่หนักขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

เหตุจากการหลั่งไหลเข้ามาให้บริการของบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติจำนวนมากในประเทศไทยที่ไร้การกำกับดูแล ทำให้ในอนาคตผู้เล่นที่มีเงินทุนไม่หนาจะล้มหายตายจากและจะเกิดการผูกขาดในที่สุด เมื่อนั้นการขึ้นราคาจะสามารถทำได้ง่ายขึ้นโดยผู้บริโภคไม่ทันตั้งตัวและไม่มีทางเลือกอีกต่อไป ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ส่อแววว่าจะได้รับผลกระทบคือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ซึ่งเป็นบริการภาครัฐภายใต้การถือหุ้นของกระทรวงการคลัง 100%
 
***ดัมป์ราคาต่ำกว่าต้นทุน

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคาของทุนต่างชาติเริ่มมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งราคาที่แข่งกันอยู่ในตลาดนั้นเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนมาก สัญญาณนี้เริ่มเห็นตั้งแต่ปี 2561 จากการที่ ปณท รายได้ลดลง 10% แม้จะยอมรับว่า ปณท เป็นเจ้าใหญ่ก็ต้องถูกแย่งตลาดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต่างชาติที่เข้ามาล้วนมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากประเทศจีน ที่พร้อมจะทุ่มเงินสร้างส่วนแบ่งตลาดโดยไม่สนใจต้นทุนหรือกำไร เพียงเพื่อให้หุ้นของตนเองในประเทศจีนขึ้นเท่านั้น ไม่ได้สนใจว่าธุรกิจจะขาดทุนหรือไม่ สังเกตได้จากแพลตฟอร์มจากต่างชาติเหล่านั้นยังไม่มีบริษัทไหนทำกำไร


ขณะที่ ปณท เอง ทำงานภายใต้งบประมาณจำกัด นอกจากการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ยังมีบทบาทในการให้บริการสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งผลไม้ในการช่วยเกษตรกรเมื่อราคาผลไม้ประสบปัญหาืการส่งยา เวชภัณฑ์ในภาวะวิกฤตโควิด การใช้เงินไปกับโปรแกรมเกษียณอายุก่อนกำหนด กว่า 500 ล้านบาท เพื่อทำให้องค์กรกระชับขึ้น เหล่านี้เมื่อประกอบกับสงครามราคาที่ต่างชาติกระหน่ำต่ำกว่าทุน ทำให้รายได้ลดลง ส่งผลให้ในปี 2564 ปณท ขาดทุนประมาณ 1,600-1,700 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 57% เมื่อ 2 ปีก่อนเหลือ 45% ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักของ ปณท มาจากการส่งพัสดุ 40% ไปรษณีย์ภัณฑ์ 30% ขนส่งต่างประเทศ 20% และบริการทางการเงิน 10%

***ถึงเวลามีหน่วยงานกำกับดูแล

“คำถามคือ เมื่อประเทศเกิดวิกฤต ระบบโลจิสติกส์คือความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ ช่วงโควิด การช่วยเหลือเกษตรกรขนส่งผลไม้ ใครจะทำหน้าที่ให้รัฐบาลนอกจาก ปณท ซึ่งเราคือกระดูกสันหลังของประเทศในด้านโลจิสติกส์ หาก ปณท หายไปเพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ นั่นคือความเสียหายของประเทศ”

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ตลาดโลจิสติกส์ของประเทศไทยต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ และกำกับดูแลคุณภาพ สินค้า บริการ รวมถึงราคาในการให้บริการ ซึ่งธุรกิจนี้ในต่างประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส มีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน ต้องไม่ตัดราคา ต้องมีการกำหนดเพดานราคา ไม่เช่นนั้นต่างชาติที่มีทุนหนากว่าก็เข้ามาทุ่มตลาดหมด สุดท้ายคนที่ไม่ไหวจะล้มหายตายจาก เกิดการผูกขาดและจะสามารถขึ้นราคาค่าบริการภายหลังได้อย่างอิสระ 

หน่วยงานกำกับดูแลควรมีกองทุนในลักษณะเช่นเดียวกับกองทุน USO ของ กสทช.เพื่อชดเชยให้ผู้ให้บริการเพื่อสังคม เพราะบริการสังคมไม่ได้ทำกำไร ในขณะที่ส่วนที่ควรได้กำไรอย่างการให้บริการเชิงพาณิชย์ก็เจอการทุ่มตลาดของต่างชาติที่ไร้การกำกับดูแล จนทำให้ปณทขาดทุนและไม่สามารถมาทดแทนกันได้


สำหรับ ปณท เองอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีหน่วยงานกำกับดูแล คือ คณะกรรมการดูแลกิจการไปรษณีย์ ซึ่งมีปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน ซึ่งอำนาจหน้าที่คือการกำกับคุณภาพบริการขอ งปณท องค์กรเดียว ในขณะที่ผู้ให้บริการต่างชาติรายอื่นไม่ถูกการกำกับดูแลเลย ซึ่งในอนาคตจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนหรือไม่ที่จะขยายบทบาทในการกำกับดูแลโลจิสติกส์รายอื่นด้วย

***หาช่องทางระดมทุน

ดนันท์ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางในการช่วยระดมทุนให้ ปณท มีแต้มต่อในการแข่งกับต่างชาติที่ใช้เงินครั้งละ 20,000-30,000 ล้านบาททุ่มตลาดได้หรือไม่ เช่น การนำบริษัทลูกของ ปณท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชัน จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจำเป็นต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี

“ด้วยข้อจำกัดของกระแสเงินสดของ ปณท ทำให้ไม่สามารถทุ่มตลาดได้เหมือนทุนต่างชาติ จำเป็นต้องให้รัฐบาลช่วยหาช่องทางในการระดมทุน เพราะในสถานการณ์แบบนี้ เมื่อมีการแข่งขันด้านราคา เราจะนิ่งเฉยไม่ได้ ลูกค้าก็ไหลออก และการจะกลับมาใช้บริการอีกก็ยาก ตอนนี้ราคาต่อชิ้นลดลง 15% รายได้ตกอยู่แล้วถ้าเราไม่ลดราคาตาม ลูกค้าก็ไหลออกแน่นอน แม้ว่าเราจะมีการปรับตัวสร้างธุรกิจใหม่ รายได้ใหม่ แต่ไม่ได้เป็นรายได้หลักที่จะเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากการส่งพัสดุได้”

ทั้งนี้ ทั้งสองเรื่องต่อเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ และการหาช่องทางระดมทุน เพื่อให้มีความยั่งยืนและประเทศมีความมั่นคง มีปณท เป็นแกนหลักการขนส่งของชาติ เมื่อ ปณท มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ มีความจำเป็นในการช่วยเหลือประเทศ เป็นเหตุผลสำคัญที่ ปณท จำเป็นต้องคงอยู่ตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น