xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโพล ส.อ.ท.แนะ ธปท.ปรับขึ้น ดบ.แบบค่อยเป็นค่อยไป ชี้บาท 32-34 เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ CEO Surver แนะกรณีที่ ธปท.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยควรพิจารณาขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปให้สอดรับกับเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ เป็นสำคัญ และควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เช่นสินเชื่อ ดบ.ต่ำ ส่วนกรณีค่าเงินบาทมองระดับ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐเหมาะสม

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 209 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 19 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร” พบว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 7.6% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยภายนอกจากทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป จนไปกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาท ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอว่า กรณี ธปท.มีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น

รวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากบางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan), การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้, มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป เป็นต้น โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ ปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00% เพื่อที่จะรักษาทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย

ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าถึงแม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจควรอยู่ที่ระดับ 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังได้แนะให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) หรือการซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น