xs
xsm
sm
md
lg

ไร้เงาบีทีเอส! BEM ยื่นรายแรกประมูล "สีส้ม" ITD จับมือเกาหลีร่วมชิงเค้ก 1.4 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



BEM ยื่นเอกสารเป็นรายแรก ประมูลชิงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบสอง มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้กำหนดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท โดยเวลาประมาณ 09.00 น. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เดินทางมาถึง รฟม.และเข้ายื่นเอกสารประมูลเป็นรายแรก

ทั้งนี้ BEM ได้ยื่นเอกสารประมูลรายเดียว ไม่ได้รวมกลุ่มกับรายใด เช่นเดียวกับการยื่นประมูลครั้งแรกก่อนหน้านี้ที่ทาง BEM ระบุถึงความพร้อม คุณสมบัติและศักยภาพ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม


รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเป็นอีกบริษัทที่ยื่นข้อเสนอประมูลเมื่อครั้งที่ผ่านมาจะมีการยื่นประมูลเช่นกัน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ดังนี้

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
4. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
5. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
6. China Harbour Engineering Company Limited
7. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
8. โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด
9. Incheon Transit Corporation
10. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ UNIQ
11. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
12. RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD
13. Kumagai Gumi Co., LTd.
14. บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด


สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลไทยจดทะเบียนในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกลุ่ม ต้องมีนิติบุคคลไทยร่วมอย่างน้อย 1 รายที่มีสัดส่วนถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35%, มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท อย่างน้อย 1 โครงการ โดยมูลค่าของผลงานแต่ละประเภทในสัญญาเดียวจะต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภทที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องนำเสนอ ประกอบด้วย ก.งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ ข.งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน ค.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง

ประสบการณ์ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี และดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างน้อย 1 โครงการ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประมูลรอบใหม่ รฟม.ได้ปรับจากการพิจารณาซอง 2 (ข้อเสนอเทคนิค) และซอง 3 (ข้อเสนอการเงิน) รวมกัน มาเป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคโดยมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จึงได้สิทธิ์ในการเปิดข้อเสนอทางการเงิน

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสิน กำหนดข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินงานของ รฟม.

โดยการพิจารณาข้อเสนอนั้น เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการตรวจสอบเอกสารครบถ้วน ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจ หลักประกันซอง ความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้ในเอกสาร RFP จะได้รับการพิจารณา ข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ประเมินแบบผ่าน/ไม่ผ่าน

การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ประเมินแบบคะแนนคิดเป็นร้อยละ คะแนนเต็มร้อยละ 100 โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
1. โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 10
2. แนวทางวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา ร้อยละ 50
3. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า ร้อยละ 10
4. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา ร้อยละ 30

ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนประเมินในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนรวมทั้งหมด จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งจะประเมินแผนธุรกิจ แผนการเงิน การระดมทุน การใช้จ่ายและแผนบริหารความเสี่ยง ผลตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม. และ/หรือจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาส่วนตะวันตกที่ขอรับจาก รฟม.

กรณีไม่ผ่านจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 พร้อมกับส่งซองข้อเสนอคืน

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท






กำลังโหลดความคิดเห็น