xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “กกพ.” 27 ก.ค.เคาะขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ต่ำสุดที่ 68.66 สต./หน่วย ดูแลประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กกพ.” เตรียมเคาะขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 65) 27 ก.ค. หลังเปิดรับฟังความเห็นให้ประชาชนเลือก 3 แนวทางหลัก คาดจะเลือกขึ้นในอัตราต่ำสุดจากงวดปัจจุบัน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่ชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้ กฟผ.เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
เปิดเผยว่า วันที่ 27 ก.ค. กกพ.จะพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 65) หลังจากได้มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการปรับขึ้น 3 อัตรา สิ้นสุดลงในวันที่ 25 ก.ค.แล้ว โดยเบื้องต้น กกพ.มีแนวโน้มจะเลือกการปรับขึ้นในอัตราต่ำสุด คือ เอฟทีใหม่จะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วยขึ้นจากงวดปัจจุบัน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย โดยอัตรางวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 65) อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งอัตรานี้จะสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเดียวยังไม่ได้มีการนำเงินที่ กฟผ.แบกรับภาระไว้มาพิจารณาเพื่อทยอยคืนค่าเชื้อเพลิงราว 83,010 ล้านบาทเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ กฟผ.ต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องในช่วงนี้ไปก่อน

สำหรับค่าเอฟทีที่สำนักงาน กกพ.เปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 แนวทาง โดยแนวทางที่ 1 ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ.ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี

แนวทางที่ 2 ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ.ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีรวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ช้าลง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 69,796 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี และแนวทางที่ 3 ยังไม่คืนหนี้ กฟผ. 83,010 ล้านบาท โดยคิดค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ยังมีส่วนข้อเสนอของ กฟผ. ค่า Ft ขายปลีก เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยจะทำให้ กฟผ.ได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนทั้งหมดจำนวน 83,010 ล้านบาทคืนภายในเดือน ธันวาคม 2565 อย่างไรก็ตาม กฟผ.เองได้ทำหนังสือแสดงความเห็นประกอบด้วยว่าควรปรับแนวทางที่ 3 เพื่อดูแลประชาชน


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ กฟผ.เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 ก.ย. 67 ซึ่งเป็นวันที่วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดิม โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

ทั้งนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว กฟผ.คาดว่าจะได้รับเงินกู้ดังกล่าวในช่วงปลายเดือน ต.ค. 65 ซึ่งไม่ทันต่อการรองรับการขาดสภาพคล่องในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 65 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line เพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์ในเดือน ส.ค. 65 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทดังกล่าว เนื่องจาก กฟผ.ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานสูงมาก ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า งบลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในส่วนของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อกระแสไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 65 สูงกว่าประมาณการจำนวน 23,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น