xs
xsm
sm
md
lg

รัฐส่งซิก ส.ค.เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-8% จ่อบังคับใช้สิ้นปีนี้ รับมือเงินเฟ้อสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงแรงงานส่งสัญญาณคณะกรรมการไตรภาคีเตรียมเคาะขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเดือน ส.ค.นี้ แย้มตัวเลขเบื้องต้นอยู่ในเกณฑ์ปรับขึ้น 5-8% คำนวณจากฐานเงินเฟ้อตามหลักสากล แย้มอาจมีผลเร็วกว่าที่กำหนด 1 ม.ค. 66 ราว 2-3 เดือนหรือช่วงสิ้นปีนี้หลังแรงงานเรียกร้องเหตุค่าครองชีพพุ่ง ด้านสภาองค์กรนายจ้างขานรับ พร้อมประเมินตลาดแรงงานครึ่งปีหลังยังเปราะบาง

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในงานเสวนาเรื่องทิศทางตลาดแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำและภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จัดโดยสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) จะสามารถพิจารณาอัตราค่าจ้างได้ในเดือนสิงหาคมนี้หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีการสรุปตัวเลขจากการรวบรวมจาก 77 จังหวัดเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ค. โดยเบื้องต้นค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นราว 5-8% โดยยืนยันว่าการปรับขึ้นครั้งนี้ได้ยึดหลักการปรับตามหลักสากลที่อิงจากฐานของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในการคำนวณไม่ได้ยึดหลักทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาที่จะปรับขึ้นค่าแรงให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2566 แต่ขณะนี้ได้รับหนังสือจากสภาองค์กรภาคแรงงานต่างๆ จำนวนมากที่ต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงมีผลในปีนี้เลยเนื่องจากลูกจ้างได้รับผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ขณะที่เมื่อสอบถามนายจ้างเองก็พร้อมจึงเป็นไปได้ว่าการปรับขึ้นจะมีผลเร็วกว่าที่เคยวางไว้ประมาณ 2-3 เดือน

“หลังจากที่ไตรภาคีที่ประกอบด้วยรัฐ ลูกจ้าง นายจ้าง ส่วนกลางเห็นชอบแล้ว รมว.แรงงานก็จะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราจกิจจานุเบกษาบังคับต่อไป โดยยืนยันว่าเราจะไม่กลับไปใช้ค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศเช่นอดีตอีกเพราะได้รับบทเรียนจากรัฐบาลที่ผ่านมาแล้วว่าทำให้เกิดการลงทุนกระจุกตัวแต่ในเมืองใหญ่ไม่กระจายไปยังภูมิภาค เรายึดตามภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และส่วนกลางเองต้องมาดูเพราะถ้าราคาจังหวัดหนึ่งสูงกว่าทั้งที่อยู่ติดกันอาจเกิดการไหลไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ก็คงไม่เป็นผลดี จึงต้องมองในระดับกลุ่มจังหวัดประกอบด้วย” นายสุรชัยกล่าว
 


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกว่า Minimum Wage ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ไม่น้อยกว่ากฎหมายกำหนด ปัจจุบันมี 10 อัตรา แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ต่ำสุดวันละ 313 บาท และสูงสุดวันละ 336 บาทที่มีเพียงจังหวัดชลบุรีและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่ได้รับสูงสุด การปรับขึ้นหากสะท้อนตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเฉลี่ย 5-10% เอกชนรับได้อยู่แล้วในภาวะปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

"กรณีที่องค์กรแรงงานแห่งหนึ่งได้เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาทต่อวันโดยอ้างถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมายที่เพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่ได้นั้นคงเป็นไปไม่ได้เพราะนั่นไม่ใช่หลักการของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นค่าแรกเข้า ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เสนอเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการ เช่น สิงคโปร์ บรูไน ฮ่องกง เพราะเป็นประเทศเล็กๆ" นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ประสบกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเงินเฟ้อ การขาดแคลนวัตถุดิบ บาทอ่อน ฯลฯ มีผลต่อภาพรวมตลาดแรงงานในครึ่งปีหลังที่จะยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนได้จากการสำรวจของสภาฯ ถึงภาวะการจ้างงานครึ่งปีหลังของสถานประกอบการพบว่าส่วนใหญ่ 47.4% ยังจ้างงานคงเดิม จ้างงานลดลง 36.8% จ้างงานเพิ่มขึ้น 15.8%

เดือน มิ.ย.นี้การจ้างงานตามระบบประกันสังคมพบว่าเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ราว 6.9 หมื่นคน นับเป็นเดือนแรกที่การจ้างงานกลับมาเป็นบวกสูงสุดในรอบ 6 เดือนแต่ก็ยังไม่อาจกลับไปเทียบได้กับก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดที่ยังคงทำให้แรงงานหายไปราว 4.2 แสนคน และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน มิ.ย.ก็ยังสูงสุดในรอบ 3 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการขาดแคลนแรงงานยังกระจุก
กำลังโหลดความคิดเห็น