BMN ลุยศึกษาออกแบบ “Metro Mall” ในสถานีรถไฟฟ้า MRT เผยปี 66 พัฒนาพื้นที่ “ลาดพร้าว-ศูนย์ฯ สิริกิติ์” เปิด Metro Art ที่พหลโยธิน ผุดแลนด์มาร์กใหม่ จ่อขยาย Rest Area บนทางด่วน "ด่านฉิมพลี" ขณะที่ยังลดค่าเช่า 50% ช่วยคู่ค้าฝ่าวิกฤตโควิด
นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN (บริษัทลูกของ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด
(มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้า ภายใต้โครงการ Metro Mall ซึ่งจะมีพื้นที่ร้านค้า ประเภทสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร โดยปัจจุบัน Metro Mall เปิดให้บริการใน 8 สถานี ได้แก่ สถานีคลองเตย, สถานีสุขุมวิท, สถานีเพชรบุรี, สถานีพระราม 9, สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, สถานีพหลโยธิน, สถานีจตุจักร และสถานีกำแพงเพชร
จากสถานการณ์โควิด ร้านค้าบางส่วนปิดให้บริการชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีมาตรการเยียวยาโดยลดค่าเช่าพื้นที่ 50-70% ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ ได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้วประมาณ 90% ซึ่งบริษัทไม่ได้มองแค่รายได้ของบริษัทอย่างเดียวแต่มองถึงการอยู่ได้ของคู่ค้า และพาร์ตเนอร์ของเราด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีรายได้ลดลง และปัจจุบันยังคงให้โปรโมชันลดค่าเช่าแก่คู่ค้าในอัตรา 50% อยู่ โดยจะมีการประเมินจำนวนผู้โดยสารประกอบหากจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนโปรโมชัน โดยขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เริ่มกลับมาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 แสนคนต่อวัน คิดเป็นประมาณ 80% ของผู้โดยสารปี 62
สำหรับปี 2566 บริษัทฯ มีแผนจะเปิดบริการ Metro Mall เพิ่มขึ้นภายในสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานีลาดพร้าว ซึ่งปัจจุบันมีเปิดให้บริการร้านค้าเป็นบางส่วนบ้างแล้ว เช่น สถานีลาดพร้าวมีกูร์เมต์ มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เกตภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT แห่งแรกของไทย เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบพื้นที่สถานีละประมาณ 1,000 ตารางเมตร
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา Metro Art ที่สถานีพหลโยธินที่จะเปิดตัวในต้นปี 2566 โดยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ร่วมกับศิลปินระดับเวิลด์คลาสและที่เป็นมาสเตอร์ของประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในสถานีรถไฟฟ้าและสามารถมาเรียนได้ฟรี โดยจะมีประกวดวาดภาพ การถ่ายรูป ฯลฯ และมีกิจกรรมเชิงศิลปะทุกเดือนตลอดทั้งปี ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ
นายวิทสุวัฒน์กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้าแล้ว บริษัทมีแผนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ Rest Area จุดพักรถบนทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) บริเวณหลังด่านประชาชื่น และด่านศรีนครินทร์ และบนทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่บริเวณด่านบางปะอิน ซึ่งจะขยายพื้นที่ให้บริการ เพิ่มเติมร้านค้า เครื่องดื่ม และปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด และสวยงามมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ไม่มาก จะเน้นในการให้บริการผู้ใช้ทางด่วน ส่วนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบจุดพักรถที่ด่านฉิมพลี 1 มีพื้นที่ประมาณ 200 กว่าตารางเมตร แต่เนื่องจากยังมีปริมาณจราจรน้อย รูปแบบการพัฒนาบริการและการลงทุนจะสอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้ทาง