ใครจะรับผิดชอบ หลัง “บิทคับ” ก่อวีรกรรมไม่หยุด ล่าสุดโดน ก.ล.ต. ลงดาบปล่อยกู้ให้ Market Maker ปั่นราคาเหรียญลวงตานักลงทุน แถมให้คะแนนเหรียญตัวเองจนโอเวอร์ จนขาดคุณสมบัติเข้าเทรดในกระดาน ต้องแก้ไขภายใน 30 วัน ด้านคนในแวดวงจี้ตรวจสอบช่วงเหรียญ KUB ราคาพุ่งสูงลิ่ว หวั่นซ้ำรอยใช้พฤติกรรมปั่นราคาด้วยหรือไม่? และถ้าเหรียญขาดคุณสมบัติต้องหลุดออกจากกระดานใครจะเป็นคนรับผิดชอบนักลงทุนรายย่อยที่ติดดอยสูงลิบ ย้อนรอยวีรกรรมเด็ดถูก ก.ล.ต.ลงโทษ-ปรับหลายรอบ พร้อมตั้งคำถาม SCBX ยังคิดจะไปต่ออีกหรือ?
ยิ่งนานวันการกระทำหลายต่อหลายอย่างยิ่งปรากฏ ทั้งที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) เลย หากปฏิบัติตนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆที่ Regulator กำหนด ชวนย้อนให้คิดถึงสุภาษิตเก่าๆ ที่ใช้ได้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”
ล่าสุดก็โดนอีกแล้ว เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง กับผู้กระทำผิด 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บิทคับ) 2. นายอนุรักษ์ เชื้อชัย มาร์เกตเมกเกอร์ และ 3.นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด โดยปรับเป็นเงินรวมกว่า 24.16 ล้านบาท
เนื่องจาก พบเหตุสงสัยอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub จึงได้ตรวจสอบโดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ขณะที่นายสกลกรย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว
โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดจาก บิทคับ โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือน ก.พ. 62 นายอนุรักษ์ ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอเรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC) Bitcoin Cash (BCH) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) ซึ่งเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโตเคอเรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 84-99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่ร้อยละ 57-99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด
แสดงให้เห็นว่าบริษัทบิทคับ และนายสกลกรย์ รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโตเคอเรนซีของนายอนุรักษ์ ดังนั้นการกระทำของบริษัทบิทคับและนายอนุรักษ์ เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขาย อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิด ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายสกลกรย์เป็นความผิด ในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิด ในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ทำให้ ค.ม.พ. มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ดังนี้ 1. ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
2. ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
3. ให้นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และให้นายสกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 และห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
หวั่นพฤติกรรมเดิมช่วงเหรียญแพง
เรียกได้ว่าเป็นอีกครั้งที่ ก.ล.ต. ดำเนินการเช็กบิล “บิทคับ” ย้อนหลัง ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินการแบบนี้ให้ทันท่วงทีหรือรวดเร็วกว่านี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนักลงทุนทั่วไปได้ไวขึ้น โดยเฉพาะการเสพข่าวสารด้านบวกของกลุ่ม “บิทคับ” เพียงด้านเดียวจนนำไปสู่การผลักดันราคาเหรียญ KUB Coin จนสูงลิ่วในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน จากพฤติกรรมที่ไม่แยแสข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จนต้องมีการประกาศมาตรการลงโทษครั้งล่าสุด ได้สร้างข้อสงสัยให้คนในแวดวงเหรียญคริปโตเคอเรนซีไทยต่างพากันกังวลว่า การสร้างวอลุ่มเทียมของ “บิทคับ” ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจงใจของทางกลุ่มโดยตรง เพราะเงินที่ส่งต่อให้ Market Maker เอาไปสร้างราคาก็เป็นเงินของ “บิทคับ” ที่ให้ยืมเอง ดังนั้นการจับคู่คำสั่งซื้อขายจึงหนีไม่พ้นเป้าหมายคือผลักดันราคาเหรียญให้สูงขึ้นเพื่อหลอกนักลงทุนหลงเชื่อและให้เข้ามาร่วมด้วย จนราคาเหรียญขึ้นไปยืนอยู่ในระดับที่เหมาะสม แล้วจึงเทขายทำกำไรจากส่วนต่างของราคา
นอกจากนี้ยังชวนให้คิดว่า ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายปี 2564 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ราคาเหรียญ KUB Coin กำลังบินอยู่ในระดับสูงนั้น อาจมีการสร้างราคาเหรียญจากทาง “บิทคับ” และ Market Maker ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สำคัญและมีผลต่อธุรกิจของกลุ่ม อาทิ การประกาศเข้าซื้อหุ้นใหญ่ใน “บิทคับ ออนไลน์” ของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการประกาศเข้าเทรดในกระดานเทรดต่างประเทศ 3 ตลาดในคราวเดียวกัน จนทำให้ราคาเหรียญขยับไปที่ 580 บาทต่อ 1 เหรียญ หรือ 1,833% จากราคาตั้งต้นของเหรียญที่ระดับ 30 บาทต่อ 1 เหรียญ ดังนั้นสิ่งที่ในแวดวงเหรียญคริปโตฯ ต้องการเห็นจาก ก.ล.ต. คือผลการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเหรียญในช่วงเวลาเหล่านี้ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
นั่นเพราะเงื่อนงำ หรือกลยุทธ์ในการนำพาเหรียญคริปโตฯ ให้โด่งดังนั้น ในแวดวงเหรียญรู้กันดีว่า ตลาดจำเป็นต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อมาช่วยสร้างสภาพคล่อง เพื่อเพิ่มความหน้าสนใจให้แก่เหรียญคริปโตฯ ซึ่งบางเหรียญอาจต้องใช้ Market Maker มากกว่า 3-5 ราย และ..... ยิ่งหากพิจารณาจากช่วงเวลาขาขึ้นของ KUB Coin ยิ่งชวนให้น่าคิดว่าบทบาทหรือความสำคัญของ Market Maker น่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเผาเหรียญทิ้ง 89% โดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้ปั้นปล่อยสตอรี่หนุนราคาอย่างต่อเนื่อง
โดย กระบวนการดูแลสภาพคล่องของเหรียญจะเริ่มจาก Market Maker ทยอยเข้ามาซื้อเหรียญ พอได้จำนวนที่มากแล้วก็ตั้งราคาขาย จากนั้นก็จะมี Market Maker อีกรายหรือรายเดิมเข้ามาตั้งราคารับไม้ต่อ สลับหมุนเวียนกันไปจนราคาเหรียญขยับขึ้นไม่หยุด ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่รู้กันดีกว่าการเทรดของ Market Maker นั้นฟรีค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เมื่อราคาเหรียญไต่เพดานขึ้นมาจนสูง จึงมีการปล่อยของออกมาเพื่อทำกำไรชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้อย่างสมบูรณ์
เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น Market Maker ก็ได้รับประโยชน์และเครดิต ขณะที่ผู้ที่ถือครองเหรียญ KUB Coin อยู่เป็นจำนวนมาก และได้รู้ไทม์ไลน์หรือจังหวะในการซื้อและขาย ก็จะมีโอกาสในการทำกำไรเม็ดงาม นำไปสู่คำถามที่ว่า “แล้วใครเป็นผู้ที่ถือเหรียญ KUB อยู่เป็นจำนวนมาก ณ เวลานั้น
พูดง่ายๆ ในกรณีดังกล่าว Market Maker ทำเกินหน้าที่ แทนที่จะทำแค่วางออเดอร์ กลับ “Take” จับคู่ซื้อ-ขายเอง โดยตลาด-ผู้บริหารตลาดรู้เห็นเป็นใจให้ทำอย่างมี “เจตนา” ให้นักเทรดโดยเฉพาะ “รายย่อย” หลงเชื่อ หลงผิด กับ “ภาพ” ที่สร้างขึ้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย เพราะการหลงผิด หมายถึงการลงทุนที่ผิดพลาดกลายเป็น “เหยื่อ” ที่ผลลัพธ์ที่สูญเสียเงินทอง หมดเนื้อหมดตัวกันง่ายๆ
อุปมาเรื่องนี้ ถ้าเทียบกับ “บ่อนพนัน” ก็คือ เจ้าของบ่อนจ้าง “หน้าม้า” มาเล่นหลอก “ขา” ทั้งหลาย มิหนำซ้ำยังให้หน้าม้ายืมเงินมา “ปั่น” ราคา สร้างกลลวงอีก นักเล่นเฮละโล แทงตาม เจ้าของบ่อนเก็บค่าต๋ง มีแต่ได้กับได้ เจ้ามือรวย หน้าม้าได้ค่าจ้าง คนเล่นถูกหลอกสิ้นเนื้อประดาตัวกันไป
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ต่างกับการลงทุนหุ้น เพราะเรื่องราวบางเรื่องที่เหรียญคริปโตฯ นำมาสร้างกระแสปั่นราคา หนีไม่พ้นกับคำว่า “Insider” หรือการเอาข้อมูลภายในมาหาผลประโยชน์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญของหน่วยงานที่กำกับดูแลควรให้ความใส่ใจต่อเหตุการณ์เหล่านี้
นั่นเพราะยังมีคำถามที่คาใจนักลงทุนว่า แต่ละประกาศของ ก.ล.ต. ซึ่งกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลของ “บิทคับ”น่าจะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการประกาศมาตรการลงโทษ หรือคำสั่งปรับออกมา อาจมีการเทขายเหรียญเพื่อทำกำไรก่อนการประกาศเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม >>> ก.ล.ต.ลงดาบปรับ Bitkub และบอร์ดอ่วม 15 ล้านบาท เหตุคัดเลือกเหรียญ KUB เข้ากระดานเทรดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
อ่านเพิ่มเติม>>>Bitkub ประกาศเดินหน้าเทรดเหรียญ Bitkub Coin ในกระดานต่อ ชี้เป็นเหรียญมีคุณสมบัติตาม Listing Rule
อ่านเพิ่มเติม>>> KUB Coin สองมาตรฐาน รายย่อยตาย Bitkub อุ้มรายใหญ่ทำกำไร ปั่นเหรียญ ก.ล.ต. ว่ายังไง?
อ่านเพิ่มเติม >>> บ.ใหญ่เริ่มตรึงราคาไม่อยู่ Bitkub อัดโปร ฯ ดองเหรียญ Kubcoin 1 ปีแจกโบนัส KBTC หวังกระตุ้นราคาหลังปล่อยโปร On The Rock
อ่านเพิ่มเติม >>> ก.ล.ต. ลงดาบ Bitkub ปรับ 24 ล้านบาท เหตุสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล ตะเพิดพ้นบอร์ดบริหาร
อ่านเพิ่มเติม >>> ให้คะแนนเหรียญตัวเองสุดเวอร์ ก.ล.ต.ชี้เหรียญ KUB ขาดคุณสมบัติเทรด บี้ "บิทคับ" แก้ไขใน 30 วัน
อ่านเพิ่มเติม >>> ย้อนรอย “บิทคับ” โดน ก.ล.ต.สั่งปรับ 11 ครั้ง เป็นเงินกว่า 43 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม >>> "บิทคับ"แถให้คะแนนเหรียญเวอร์ ยันคิดตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต.
อ่านเพิ่มเติม >>> ขาลง “บิทคับ” และ "ท๊อป จิรายุส" / สุนันท์ ศรีจันทรา
เปิดวีรกรรมเด็ด “บิทคับ”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการกระทำแหกกฎทั้งจงใจ และไม่จงใจละเมิดข้อกำหนดของ ก.ล.ต. ถือว่า “บิทคับ” มีผลงานที่โดดเด่นมากในเรื่องดังกล่าว โดยสามารถจำแนกกรรมแบบต่างกรรมต่างวาระได้ดังนี้
1.ในช่วงเดือน มกราคม 2564 “บิทคับ ออนไลน์” ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก (system disruption) ต่อสำนักงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด เป็นจำนวน 6 ครั้ง
ถัดมาวันที่ 8 ม.ค.-7 มี.ค. 2564 “บิทคับ” มีระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) “ไม่รัดกุมเพียงพอ” ที่จะทำให้บริษัท บิทคับ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่กำกับดูแลให้ฝ่ายผลิตภัณฑ์ติดตามคุณสมบัติของเหรียญดิจิทัลสกุล CTXC จึงไม่ได้ update version ของเหรียญ ทำให้เหรียญดังกล่าวที่ซื้อขาย ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับไม่สามารถซื้อขายได้ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และมีการปรับตัวของราคาผิดปกติอย่างมาก
ก่อนหน้านั้นวันที่ 28 ธ.ค. 2563-20 ม.ค. 2564 “บิทคับออนไลน์” มีระบบงานที่เกี่ยวกับการรับและจัดการข้อร้องเรียน และการจัดให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งจำนวนและความรู้ความสามารถของบุคลากรไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยหยุดซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุล JFIN Coin (JFIN) และ Infinitus (INF) ชั่วคราว
และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน วันที่ 2-21 ม.ค. “บิทคับ ออนไลน์” มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงในระหว่างวันที่ 6 ม.ค.-28 พ.ค. 2564 “บิทคับ ออนไลน์”ยังมีระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บริษัทประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ไม่เพียงเท่านี้เรื่องที่ผิดพลาดหนัก และถูก ปรับเป็นเงินจำนวนกว่า 1.2 ล้านบาท เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 8 ม.ค.-19 ก.ค. 2564 ซึ่ง ก.ล.ต. ระบุ ว่า “บิทคับ ออนไลน์” มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (surveillance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บิทคับทราบธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็น “การผลักดันราคา” จากการแจ้งเตือนของระบบในทันที”
ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ก.ค. 2564 “บิทคับ ออนไลน์” ยังเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้เป็นเวลา 33 วัน
ต่อด้วย วันที่ 5-24 ม.ค. 2564 “บิทคับ ออนไลน์” ยังยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน และก่อนหน้าเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เพิ่งขึ้น คือ 5 พ.ค. 2565 ก.ล.ต. ประกาศเปรียบเทียบปรับคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของ “บิทคับ ออนไลน์” จำนวน 5 ราย เหตุพิจารณาคัดเลือกเหรียญ KUB เข้ากระดานเทรดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI)
โดยมีความผิดตามมาตรา 94 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 5 รายดังกล่าวได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่พึงต้องกระทำ เป็นเหตุให้ “บิทคับ ออนไลน์” คัดเลือก Bitkub Coin (เหรียญ KUB) เข้าซื้อขายในศูนย์ฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) ทำให้มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2565 โดยปรับเป็นเงินรายละ 2,533,500.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,201,000 บาท
โอล่ะพ่อ KUB Coin ไม่มีมาตรฐาน
แต่ทว่า เงื่อนงำของ “บิทคับ”ยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะเพียงแค่เมื่อ ก.ล.ต. ประกาศมาตรการลงโทษผู้บริหารของ “บิทคับ” กับ Market Maker ได้ไม่เท่าไรก็มีคำสั่งออกมาอีกฉบับ “บิทคับ ออนไลน์” แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยให้ Bitkub ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ KUB ดำเนินการแก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และให้ Bitkub แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนต่อ ก.ล.ต. ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เมื่อ Bitkub ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
นั่นทำให้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการคัดเลือกเหรียญ KUB แล้ว พบว่า Bitkub มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ขณะเดียวกัน Bitkub ได้ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง
นอกจากนี้ Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อราคาเหรียญ KUB จะดิ่งลงมาต่ำกว่า 100 บาท/เหรียญ หลังจาก ก.ล.ต. มีคำสั่งดังกล่าวออกมา เรียกได้ว่าผลกรรมของ “บิทคับ” กำลังทยอยถูกเปิดเผยออกมาตามกรรมที่ได้กระทำไว้อย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่ชวนให้น่าติดตามต่อสำหรับประเด็นดังกล่าว คือ การแก้ไขคะแนนของเหรียญ KUB Coin ให้ต้องกับเงื่อนไขของ ก.ล.ต. จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันได้หรือไม่ และเมื่อแก้ไขได้จะมีผลต่อราคาเหรียญในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกันหากไม่สามารถแก้ไขได้ เหรียญ KUB จะสามารถถือซื้อขายบนกระดานเทรดต่อไปได้หรือไม่ รวมไปถึงนักลงทุนเหรียญอยู่จะได้รับความยุติธรรมจากผลที่เสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า?
วีรกรรมแบบนี้คู่ควร SCBX?
ขณะเดียวกัน จากวีรกรรมที่ก่อขึ้นของ “บิทคับ” ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าดีลการขึ้นยานแม่ของ SCBX มูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท ควรจะไปต่อหรือไม่ นั่นเพราะบอร์ดไทยพาณิชย์ หรือ SCBX เมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งจะมีข่าวว่า บอร์ดยังรอให้ทีมทำ “ดีลดิลิเจนซ์” หรือ ทีมตรวจสอบและประเมินสินทรัพย์ของ บิทคับ กลับมารายงานมาว่า เป็นอย่างไร โดยผู้บริหาร SCBX “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อ้ำๆ อึ้งๆ ไม่ยอมตอบคำถามนักข่าวว่า “จะไปต่อ หรือพอแค่นี้” กับ ยูนิคอร์น ที่ “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา คนก่อตั้ง และเอาตัวเองทำตลาดโฆษณา สร้างภาพลักษณ์ไปทุกที่ แทรกซึมไปทุกแหล่ง
แม้แต่ ก็ไม่รู้ว่า ทีมที่เข้าไปทำดีลดิลิเจนซ์ในบิทคับที่ใช้เวลาตรวจสอบมา 7-8 เดือนมาแล้ว พบเจออะไร เหมือนที่ ก.ล.ต. เห็นมั้ย? ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ปกติ อย่างที่ถูก ก.ล.ต. จับโป๊ะ สร้างวอลุ่มเทียม หลอกนักเทรดได้ ก็ถามต่อว่า แล้วปริมาณการซื้อขายจริงๆ ที่ “ท๊อป-จิรายุส” มักเคลมว่า โตพรวดพราด ทำรายได้ให้บริษัทปีละเป็นพันเปอร์เซ็นต์ แน่ใจแล้วหรือว่าใช่ของจริง ไม่ใช่ปริมาณเทียมดังที่ถูกจับได้อย่างนี้ แล้วท้ายที่สุดตกลงนี่คือทองแท้หรือทองเค?
ทั้งนี้ ตามรายงาน ทีมผู้บริหารเอสซีบีเอกซ์ และที่ปรึกษาทางการเงินจะทำ Due Diligence เสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย. 2565 นี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของเอสซีบีเอกซ์ พิจารณาต่อไป ดังนั้น ณ เวลานี้ SCBX ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะซื้อหุ้นของบิทคับ ออนไลน์ ตามดีลเบื้องต้นที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ต้องรอผลสรุปของการทำ Due Diligence เสียก่อน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาว่าราคาที่ตกลงกันนั้นเหมาะสมหรือไม่ และเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปประการหนึ่งก็คือภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกมีความผันผวนสูงมาก ราคาปัจจุบันลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ประกาศดีล ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ CBX จะต่อรองขอลดราคาซื้อหุ้นบิทคับ ออนไลน์ ลงจากราคาเดิมที่ตกลงกัน ทั้งยังต้องดูระเบียบข้อกฎหมายจากหน่วยงานกำกับทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต. มาประกอบด้วย.