xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ชวนผู้ประกอบการ-ประชาชน ใช้ประโยชน์คลังข้อมูลธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พาณิชย์”ชวนผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชน ใช้ประโยชน์จาก DBD DataWarehouse+ คลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถตรวจสอบได้ทั้งสถานะนิติบุคคล ข้อมูลงบการเงิน วิเคราะห์ธุรกิจ และค้นหาคู่ค้าทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ และเป็นข้อมูลประกอบก่อนการตัดสินใจลงทุน


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้พัฒนาข้อมูลนิติบุคคลให้เป็นข้อมูลสารสนเทศที่ทรงประสิทธิภาพ โดยมีระบบ DBD DataWarehouse+ ซึ่งเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลนิติบุคคล งบการเงิน ที่มีการประมวลผลและวิเคราะห์ให้เป็นข้อมูลสารสนเทศรูปแบบที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ภาคธุรกิจ ประชาชนในการสืบค้นข้อมูล โดยผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลใน DBD DataWarehouse+ ทั้งที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ และข้อมูลที่ได้รับการวิเคราะห์ไปใช้งานได้ทันที ทั้งการตรวจสอบสถานะนิติบุคคล ข้อมูลงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ การลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย และการค้นหาข้อมูลคู่ค้าทางธุรกิจ

ปัจจุบัน DBD DataWarehouse+ เป็นการให้บริการข้อมูลธุรกิจที่เผยแพร่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต มีผู้เข้าใช้งานและค้นหาข้อมูลมากกว่า 9 ล้านครั้งต่อปี โดยสามารถเข้าใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและนําข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นข้อมูลประกอบก่อนการตัดสินใจลงทุน และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ

สำหรับการเข้าค้นหาข้อมูลธุรกิจในระบบ DBD DataWarehouse+ สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกที่ทุกเวลา ผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แทปเลต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> บริการข้อมูลธุรกิจ >> DBD DataWarehouse+ (คลังข้อมูลธุรกิจ) หรือค้นหาข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน DBD e-Service ทั้งระบบ IOS และ Android

นายสินิตย์กล่าวว่า ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก DBD DataWarehouse+ เช่น ตรวจสอบสถานะนิติบุคคล โดยสามารถค้นหาข้อมูลของนิติบุคคล พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลในประเภทธุรกิจเดียวกัน เพื่อให้ทราบถึงสถานะของตนเองแยกตามขนาดธุรกิจ รวมทั้งผลประกอบการ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจ และอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวัดประสิทธิภาพในการบริหารงานของกิจการ สะท้อนให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ช่วยวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข หรือพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรให้ได้ผลการดำเนินงานตรงตามแผนงานหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ของกิจการ

นอกจากนี้ สามารถค้นหาข้อมูลภาพรวมของกลุ่มธุรกิจแต่ละประเภท วิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจตามผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจลงลึกถึงระดับภาคและจังหวัด เพื่อให้เห็นแนวโน้มการประกอบธุรกิจในแต่ละพื้นที่ อัตราการอยู่รอดของธุรกิจ พร้อมทั้งสัดส่วนการลงทุนในนิติบุคคลแบ่งตามสัญชาติ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจเป้าหมายที่สนใจ หรือปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจในปัจจุบัน และยังสามารถค้นหาคู่ค้าทางธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ เพื่อค้นหาปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ โดยมีข้อมูลทางธุรกิจให้ตรวจสอบเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการติดต่อคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และค้นหาธุรกิจปลายน้ำ เพื่อค้นหาแหล่งกระจายสินค้าและผู้ใช้บริการสามารถขยายโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

“การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ เป็นเครื่องมือช่วยกำหนดกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยใช้เครื่องมือแบบจำลองทางการเงิน และการประมาณการเพื่อพิจารณาแนวโน้มรายได้ของธุรกิจรายประเภท ลงลึกถึงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนแผนการเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง และกำหนดแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้มีทิศทางที่ถูกต้อง วางแผนและกำหนด Position ของธุรกิจในอนาคตได้ ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรที่วางไว้อย่างรวดเร็ว สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจระยะยาว”นายสินิตย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น