xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : รถไฟฟีดเดอร์เชื่อมสายสีแดง เติมเต็มชีวิตเมืองนครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นครปฐม จากเมืองเก่าแก่ในฐานะราชธานีสำคัญสมัยทวารวดี โดยมีแลนด์มาร์คสำคัญคือ พระปฐมเจดีย์ สู่ความเป็นเมืองการศึกษา ด้วยสถานศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่า 10 แห่ง ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานกำลังพัฒนา อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่มีด่านเก็บเงินถนนดอนตูม และถนนมาลัยแมน ซึ่งจะมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566

หรือจะเป็น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร ตามแผนคาดว่าการก่อสร้างงานโยธาและระบบรางทางคู่จะเสร็จทั้งหมดปลายปี 2565 ก่อนติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้การเดินรถเร็วขึ้น จากเดิม 8-9 ชั่วโมง ลดเหลือ 4-5 ชั่วโมง เพราะไม่ต้องเสียเวลารอหลีกรถไฟที่สวนทางกันมา


ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการขบวนรถดีเซลรางชานเมือง หรือฟีดเดอร์ (Feeder) ธนบุรี-นครปฐม มาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้า-ออกจากโซนนครปฐมสู่กรุงเทพฯ เป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว แบ่งเบาปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีชุมทางตลิ่งชัน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางขุนนนท์


รถไฟฟีดเดอร์ ได้รับความนิยมจากชาวนครปฐม รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เพื่อเที่ยวชมสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ สถานที่ใกล้เคียงอย่างพระราชวังสนามจันทร์ แหล่งของกิน ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจดั้งเดิมและตลาดโต้รุ่ง ล่าสุด การรถไฟฯ ได้เพิ่มขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย นครปฐม-ธนบุรี จากเดิม 19.00 น. เป็นเวลา 20.40 น. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับกรุงเทพฯ


รถไฟขบวนพิเศษโดยสาร หรือรถฟีดเดอร์ (Feeder) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อดึงชาวนครปฐม นครชัยศรี ศาลายา และพุทธมณฑล สาย 2 เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก ประหยัด และปลอดภัย โดยคิดค่าโดยสารอัตราพิเศษ สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะไปสถานีชุมทางตลิ่งชัน 50%


จอดรับ-ส่งผู้โดยสารเพียงแค่ 11 สถานี ได้แก่ สถานีธนบุรี ที่หยุดรถจรัลสนิทวงศ์ (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) สถานีชุมทางตลิ่งชัน (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) ที่หยุดรถพุทธมณฑล สาย 2 สถานีศาลาธรรมสพน์ สถานีศาลายา สถานีวัดสุวรรณ สถานีวัดงิ้วราย สถานีนครชัยศรี สถานีต้นสำโรง และปลายทางสถานีนครปฐม ใช้เวลาเดินทางเพียง 55 นาที


ความสำคัญของแต่ละจุดจอด ตั้งแต่พุทธมณฑล สาย 2 และศาลาธรรมสพน์ รองรับผู้ที่มาจากย่านถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา, สถานีศาลายา วัดสุวรรณ วัดงิ้วราย รองรับกลุ่มนักศึกษา และชุมชนโซนถนนศาลายา-นครชัยศรี, สถานีนครชัยศรี รองรับผู้ที่มาจากนครชัยศรีและใกล้เคียง, สถานีต้นสำโรง ที่ตั้งค่ายทองฑีฆายุ กรมการสัตว์ทหารบก และเทศบาลตำบลธรรมศาลา

ส่วนสถานีนครปฐม เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ของทางรถไฟสายใต้ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครปฐม รองรับคนที่อยู่ในพื้นที่ตัวเมืองนครปฐมและอำเภอใกล้เคียง เช่น กำแพงแสน ดอนตูม รวมทั้งกลุ่มนักเรียน กลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ฯลฯ ให้เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ


เดิมสถานีรถไฟนครปฐมจะมีรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารรวมกันวันละ 42 ขบวน (ปัจจุบันงดให้บริการบางขบวน) แต่มีขบวนรถธรรมดา และขบวนรถชานเมืองรวมกันแค่ 14 ขบวน การเพิ่มขบวนรถฟีดเดอร์ พร้อมปรับเวลาเดินรถธรรมดาและชานเมือง ทำให้มีขบวนรถระหว่างสถานีชุมทางตลิ่งชันถึงนครปฐมมากกว่า 30 ขบวนต่อวัน ตอบสนองการเดินทางไปยังใจกลางเมืองได้เป็นอย่างดี


ตัวเมืองนครปฐมนอกจากจะเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีความเจริญทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแล้ว ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวทางศาสนาและประวัติศาสตร์ อาทิ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร พระราชวังสนามจันทร์ วัดไผ่ล้อม หมู่บ้านข้าวหลาม รวมทั้งถนนคนเดินทวาราวดีศรีนครปฐม ตลาดบน ตลาดล่าง และตลาดนัดกลางคืนหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น


แลนด์มาร์คยอดนิยมของชาวนครปฐมก็คือ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร นอกจากจะได้สักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองนครปฐมแล้ว ตลาดนัดกลางคืน ก็เป็นที่ขึ้นชื่อด้วยอาหารสตรีทฟู้ด รสชาติอร่อย ราคาย่อมเยา โดยมีร้านเด่น อาทิ ช.ทอดมันกุ้ง ระฆังทองน้ำปลาหวาน เด่นไทยไอศกรีม บัวลอยแต้จิ๋ว ฯลฯ ซึ่งผู้คนจะคึกคักในช่วงเวลาประมาณ 17.00-23.00 น.

ล่าสุด หอการค้าจังหวัดนครปฐม เตรียมจัดงาน เทศกาลอาหารผลไม้และของดีนครปฐม ปี 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 1-9 ก.ค. 2565 ชูจุดขายอาหารอร่อยขึ้นชื่อ อาหารถิ่น ยกร้านเด็ดในจังหวัด ผลไม้จากชาวสวนผู้ผลิตโดยตรง สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และอาหารโต๊ะจีนจานเด็ดราคาพิเศษที่มีเพียงวันละ 1 รอบ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมงานจำนวนมาก


แม้การให้บริการรถฟีดเดอร์จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ระหว่างรอการพัฒนารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนครปฐมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับขยายการเติบโตของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่จังหวัดใกล้เคียงให้เติบโตไปด้วยกัน

หมายเหตุ : ตรวจสอบตารางเดินรถได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย https://railway.co.th/Station/StationList

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น