xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ยัน “พลังงาน” มี 2 กฎหมายดูแลค่ากลั่น-ราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ปลัดพาณิชย์”ชี้แจงประเด็นข้อเสนอให้ใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดูแลค่ากลั่น-ราคาน้ำมัน ยัน “พลังงาน” เป็นหน่วยงานหลัก เหตุมีกฎหมายเฉพาะดูแล ทั้ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน ส่วน “พาณิชย์”ดูแลเรื่องการจำหน่ายไม่ตรงตามราคาที่กำหนด ยกตัวอย่าง ก๊าซ LPG พลังงานประกาศมาตลอด ใครขายเกินราคาจับ น้ำมันก็ต้องใช้หลักการนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงประเด็นที่มีข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับดูแลค่าการ กลั่นน้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง ว่า เรื่องราคาน้ำมันที่กำลังมีคนชี้มาที่กระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นผู้รับผิดชอบ ขอเรียนว่าไม่ใช่ โดยอำนาจหน้าที่ในเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเฉพาะ มีข้อกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล จำนวน 2 ฉบับ จึงต้องใช้กฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล

โดยกฎหมายที่กำกับดูแลราคาน้ำมันฉบับที่หนึ่ง คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาตรา 6(2) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน โดยให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารพลังงานของประเทศ ถ้าดูกฎหมายนี้จะเห็นว่าคนเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะ คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นเลขานุการ) ซึ่งการกำหนดราคาหรือการวางหลักเกณฑ์เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาและบริหารพลังงานแห่งประเทศด้วย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกระทรวงพลังงาน

ส่วนอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรา 5 ให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤติน้ำมัน และมาตรา 27 กำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรา 27 (1) โรงกลั่น 27 (2) ผู้นำเข้า ก็จะเห็นอยู่แล้วว่ากองทุนมีหน้าที่อะไรในเวลาสถานการณ์วิกฤติ ใครควรเข้ามาบริหารจัดการและใครที่จะมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน การใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบกำกับดูแล ถือว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่สุด

นอกจากนี้ หากดูใน พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ท้ายกฎหมายจะเขียนไว้ด้วยว่า การบริหารพลังงานของประเทศ กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้มีเอกภาพจึงได้จัดตั้ง คณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องพลังงานมีเอกภาพ กฎหมายชัดเจนที่สุด วัตถุประสงค์ ข้อกำหนด ที่มาเรื่องการมีกฎหมายฉบับนี้ ณ เวลานี้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจึงอยู่ตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการตอบคำถามหลายข้อโดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่แรก

สำหรับข้อสงสัยที่มีคนกล่าวอ้างว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน กกร.โดยตำแหน่ง และในกฎหมายกำหนด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม อยู่ในอำนาจของประธาน กกร. อยู่แล้ว ขอชี้แจงว่า ทุกวันนี้ LPG มีการประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นคนกำหนดราคา LPG ที่จะมีการปรับราคาขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดว่า เดือนละเท่าไรต่อครั้ง เราจะเห็นว่ากระทรวงพลังงานเป็นคนประกาศ เป็นวิธีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่พอมาราคาน้ำมันเหตุใดบางคนจึงมาบอกว่าให้กระทรวงพาณิชย์เป็นคนกำกับดูแล ซึ่งจริง ๆ กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบอยู่ที่ใด ผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ควรที่ผู้ใดจะมาบิดเบือนหลักการนี้

ทั้งนี้ หากถามว่ากระทรวงพาณิชย์ทำอะไรในเรื่องของ LPG หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ คือ เมื่อกระทรวงพลังงานประกาศราคาออกมาแล้ว ใครขายเกินกว่านี้ กระทรวงพาณิชย์จับ โดยอาศัยมาตรา 29 คือ ผู้ใดจงใจจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร มีโทษผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น กระทรวงพลังงานแจ้งราคาถังละ 380 บาท ถ้าใครขาย 400 บาท กระทรวงพาณิชย์จับ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น