xs
xsm
sm
md
lg

มาแน่!!ผู้นำธุรกิจคาดไม่เกินปีหน้าศก.ถดถอย CEO9ใน10ผวารัสเซียโจมตีทางไซเบอร์แก้แค้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


CEO ส่วนใหญ่ยกให้เงินเฟ้อเป็นผลกระทบจากสงครามที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากที่สุด และ 60% เชื่อว่า ไม่เกินปลายปีหน้าภาวะถดถอยเกิดขึ้นแน่
CEO และ C-suite ทั่วโลกจำนวนมากขึ้นกังวลกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภูมิภาคของตนกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า และ 15% มองว่า เศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นผู้นำธุรกิจ 9 ใน 10 ยังกังวลว่า รัสเซียอาจแก้แค้นด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งหลายบริษัทยังมีจุดอ่อนน่าเป็นห่วง

ผลสำรวจความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) และฝ่ายบริหารระดับสูง (C-suite) ทั่วโลกที่จัดทำโดยคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด และเผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (17) เป็นฉบับอัพเดตพิเศษในช่วงสงคราม ซึ่งให้ภาพอย่างสมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามยูเครนที่มีต่อมุมมอง ลำดับความสำคัญ ความกังวล และแผนการในอนาคตของผู้นำธุรกิจทั่วโลก โดยพบว่า 60% คาดว่า ภูมิภาคของตนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก่อนสิ้นปีหน้าหรือเร็วกว่านั้น เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้วที่อยู่ที่เพียง 22%

ผลสำรวจล่าสุดนี้ที่อิงกับการสอบถามความคิดเห็น CEO และ C-suite 750 คนในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา เอเชีย และยุโรป ระหว่างวันที่ 10-24 พฤษภาคม หรือก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวันพุธ (15) สะท้อนแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ที่ซึมเซาลงในสายตาผู้นำธุรกิจ โดยมี 15% เชื่อว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคของตนถดถอยแล้ว

นอกจากความกลัวเรื่องภาวะถดถอย หลายคนยังกังวลว่า เงินเฟ้อ ความปั่นป่วนในตลาดพลังงาน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเพิ่มภาระให้เศรษฐกิจ

รายงานระบุว่า บรรดา CEO และ C-suite มองว่า เงินเฟ้อถูกกระตุ้นจากสงครามผ่านความผันผวนของราคาพลังงาน และต้นทุนที่พุ่งขึ้นของผลผลิตที่ขาดแคลน

มีผู้นำธุรกิจแค่ 9% ที่ไม่คิดว่า สงครามยูเครนส่งผลกระทบใหญ่โตต่อธุรกิจของตนในปีหน้า กระนั้น บริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มหนีไม่พ้นผลกระทบจากราคาพลังงานและอาหารแพง และผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยกให้เงินเฟ้อเป็นผลกระทบจากสงครามที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากที่สุด

นอกจากนั้น สงครามในยูเครนที่ยังไม่เห็นจุดจบยังถือเป็นความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานและซัปพลายเชื้อเพลิงที่อาจทำให้ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิดในจีนยิ่งรุนแรงขึ้น

ขณะเดียวกัน สงครามยังเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นการคิดถึงผลกระทบระยะยาว ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ซัปพลายเชน พลังงานทดแทน วิกฤตการณ์และแผนสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย CEO 9 ใน 10 กังวลว่า รัสเซียอาจแก้แค้นด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งหลายบริษัทยังมีจุดอ่อนน่าเป็นห่วง

ความรู้สึกแง่ลบที่เพิ่มมากขึ้นในบรรดาผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจมีขึ้นขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกระดมแผนเชิงรุกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเมื่อวันพุธเฟดตัดสินใจใช้ยาแรงขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานรวดเดียว 0.75% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมครั้งใหญ่ที่สุดนับจากปี 1994 และสำทับว่า พร้อมขึ้นดอกเบี้ยอีกในเดือนหน้าเพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด และหวังว่า เศรษฐกิจจะแค่ซอฟต์แลนดิ้งเท่านั้น

การขึ้นดอกเบี้ยแรงเกินคาดของเฟดกระตุ้นให้เหล่านักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทพากันลดอันดับการคาดการณ์อัตราเติบโตของอเมริกา ประเดิมด้วยนักเศรษฐศาสร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา โกลบัล รีเสิร์ช ที่หั่นอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซ้ำคาดว่า มีโอกาส 40% ที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปีหน้า

ขณะเดียวกัน นักกลยุทธ์ของเจพีมอร์แกนระบุว่า การดิ่งลงของดัชนี S&P 500 บ่งชี้ว่า มีโอกาส 85% ที่อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว S&P 500 ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี

อย่างไรก็ดี CEO หลายคนในอเมริกาบอกว่า เริ่มเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ก่อนที่เฟดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุด

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำธุรกิจชั้นนำที่รวมถึงเจมี ไดมอน CEO ของเจพีมอร์แกน และอีลอน มัสก์ ประธานเทสลา ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งประกาศแผนการดำเนินการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือช่วงเวลาท้าทายที่รออยู่

ต้นเดือนนี้ มัสก์บอกว่า เขา “รู้สึกเลวร้ายมากกับเศรษฐกิจ” พร้อมเปิดเผยแผนปลดพนักงาน 10% ในเทสลา และ “พักการจ้างงานทั้งหมดทั่วโลก”

คำเตือนของมัสก์เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่ไดมอนกล่าวกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่เข้าร่วมการประชุมธุรกิจว่า “เฮอร์ริเคน” เศรษฐกิจกำลังจะมาถึง จุดชนวนการแสดงความคิดเห็นเรื่องภาวะถดถอยอย่างกว้างขวาง

“คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อม” และสำทับว่า อเมริกากำลังจะปรับใช้งบดุลแบบอนุรักษนิยมเข้มข้น

เช่นเดียวกับเทสลา หลายบริษัทส่งสัญญาณแนวโน้มอึมครึมด้วยการทบทวนแผนการว่าจ้างพนักงานใหม่หรือปลดคน
เมตาแถลงว่า จะไม่ว่าจ้างพนักงานเพิ่มเท่ากับปีก่อนๆ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และคริปโตต่างเหยียบเบรคแผนการว่าจ้างพนักงานใหม่หรือประกาศปลดพนักงานเช่นเดียวกัน

สัปดาห์ที่แล้ว คอยน์เบส กระดานเทรดคริปโตเบอร์หนึ่งของอเมริกา ปลดพนักงาน 18% โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเตรียมรับมือภาวะเศรษฐกิจขาลง

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เจฟฟ์ กันด์แลค ราชาหุ้นกู้ กล่าวว่า มีแนวโน้มสูงมากที่เศรษฐกิจอเมริกาจะถดถอย เขายังสงสัยว่า เฟดจะบังคับให้เศรษฐกิจซอฟต์แลนดิ้งได้ตามต้องการหรือไม่ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังไต่ขึ้นอย่างดื้อดึง

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำธุรกิจหลายคนพากันเตือน แต่บางคนยังมีความหวังและพลังบวก เช่น เจมส์ กอร์แมน CEO มอร์แกน สแตนเลย์ ที่กล่าวในงานประชุมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาคิดว่า ภาวะถดถอยมีโอกาสเกิดขึ้น 50-50 แต่ไม่ใช่ว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอ้างอิงงบดุลที่แข็งแกร่งของภาคธุรกิจ การใช้จ่ายที่เข้มแข็งของผู้บริโภค และตลาดแรงงานตึงตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น