xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดตรถไฟทางคู่ "มาบกะเบา-จิระ" เตรียมเปิดใช้ช่วง "สถานีซับม่วง-คลองขนานจิตร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"กรมราง" ลงพื้นที่อัปเดตรถไฟทางคู่สายอีสาน "มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ" สัญญา 1 คืบกว่า 94% ส่วนสัญญา 3 อุโมงค์คืบกว่า 91% เผย รฟท.เตรียมเปิดใช้ 3 สถานีแรก จากซับม่วง-จันทึก -คลองขนานจิตร

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กม. โดยมีนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้าง เขต 2 ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานและบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่

โดย รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดการเดินรถทางคู่ในช่วงแรกตั้งแต่สถานีซับม่วง สถานีจันทึก และสถานีคลองขนานจิตร และจะทยอยเปิดเดินรถในช่วงอื่นๆ ตามความพร้อม

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แบ่งเป็น 4 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร (กม.134+250-กม.198+200) ระยะทาง 58 กม. (เป็นโครงสร้างระดับพื้นดิน 30 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ ประมาณ 5 กิโลเมตร) มีความคืบหน้า 94.63%

โดยมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างวงเงิน 7,560 ล้านบาท สัญญาเดิมเริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2565 ขยายไปสิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 2565  

โดยงานก่อสร้างบางส่วน เช่น สถานีมวกเหล็กใหม่ สถานีปางอโศก และทางยกระดับบริเวณอำเภอมวกเหล็ก ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับสถานีมวกเหล็กใหม่ เป็นสถานีขนาดกลาง ระดับดิน มีการออกแบบตามมาตรฐาน universal design รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดยออกแบบให้มีชานชาลายกระดับประมาณ 10 เมตรจากระดับพื้น มีความยาว 400 เมตร มีบันไดทางขึ้นลง และลิฟต์เพื่อบริการระหว่างชานชาลา up track และ down track ระบบการจำหน่ายบัตรโดยสารมี 2 ระบบ คือ ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารปกติ และระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสถานีเป็นระบบปิด (มีระบบเครื่องกั้นเข้าออกในตัวสถานีคล้ายๆ กับรถไฟฟ้า) โดยสถานีมวกเหล็กเดิมจะปรับเป็นที่หยุดรถ

สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (กม.199+600-กม.268+136) ระยะทาง 69 กม.รฟท. อยู่ระหว่างการปรับแบบร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา

สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 อุโมงค์ ระยะทาง 5 กม. ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้า 91.057% โดยมีการขยายสัญญาก่อสร้าง จากเดิมสัญญาสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ออกไปสิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 2565

โดยอุโมงค์ที่ 1 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ ทางเดี่ยว มีความกว้างประมาณ 7.50 เมตร สูงประมาณ 8.50 เมตร และยาวประมาณ 5.20 กิโลเมตร ถือเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีความคืบหน้า 80%

อุโมงค์ที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีความยาว 250 เมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 98%

และอุโมงค์ที่ 3 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.17 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 81%

สัญญาที่ 4 ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ทั้งโครงการวงเงิน 2,445 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยฯ-LSIS เป็นผู้ก่อสร้าง มีความคืบหน้า 12.671%










กำลังโหลดความคิดเห็น