xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้า ประเมินจีดีพีปี 65 เหลือ 3.1% เจอพิษสงคราม ราคาพลังงาน เงินเฟ้อพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% เหตุเจอผลกระทบสงคราม ราคาพลังงาน เงินเฟ้อพุ่ง ประเมินหากน้ำมันดิบโลกขึ้นต่อ ดีเซลขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น อาจเห็นจีดีพีหดเหลือ 2.3-2.9% แต่ถ้าน้ำมันลด ส่งออกเพิ่ม ท่องเที่ยวฟื้น อาจเห็นจีดีพีโต 3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 4.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ยังคงมีปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาของการขาดแคลนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตมีผลต่อการส่งออก เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอน มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงจากการใช้มาตรการ Zero COVID รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจมีผลต่อการค้าโลกอีกครั้ง

โดยศูนย์ฯ ยังได้ประเมินการส่งออกว่าจะเติบโตที่ 6.3% การลงทุนภาคเอกชน เพิ่ม 4.9% ภาครัฐ เพิ่ม 2.9% เงินเฟ้อ เพิ่ม 6% จำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่ม 6.1% อัตราแลกเปลี่ยน 34.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

“หากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 40 บาทต่อลิตร และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 จำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25% จะทำให้จีดีพีปรับตัวลดลง โดยแย่สุด คือ 2.3-2.9% แต่ถ้าราคาน้ำมันโลกไม่สูงขึ้น และปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งออกฟื้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว จีดีพีก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 3.5%”นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยขับเคลื่อน เช่น การฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย และอัตราการติดเชื้อลดลง การผ่อนคลายนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 การจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมา ภาครัฐมีการกระตุ้น เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง และความเสี่ยงจากภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น