xs
xsm
sm
md
lg

AIS-กรมควบคุมโรคเผย 3 ปี ใช้แอป อสม. รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายกว่า 100 ล้านครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นางสายชล ทรัพย์มากอุดม
หลังจาก AIS ร่วมงานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสริมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นตัวช่วยในการปฏิบัติงานในพื้นที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กว่า 100 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานใหม่ของการนำดิจิทัลมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย ยังรวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องด้วยอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ด้วยความสำคัญดังกล่าว 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ลงมติร่วมกันให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง สำหรับในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี

โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 มิถุนายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย ซึ่งเมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 2564 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21% โดยในช่วงที่มีการระบาดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

 ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ
“การดําเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนงานให้ประสบความสําเร็จ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ซึ่งจะเป็นผู้นําในชุมชนให้ประชาชนดูแลตนเองและครอบครัวไม่ให้ป่วยด้วยโรคติดต่อนําโดยยุงลาย”

หลังจากนำเอาฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายในแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาปรับใช้ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ อสม.เกิดความคล่องตัว สามารถเก็บข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทั้งจำนวนบ้าน ลูกน้ำ ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการสรุปผลและติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด

“ประโยชน์สำคัญคือการนําข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจํานวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ เพื่อแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ และนําไปใช้ในการเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงต่ออการเกิดโรคติดต่อนําโดยยุงลายเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค”

ทั้งนี้ ในอนาคตทางกรมฯ ได้วางแผนที่จะใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลายจากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมของแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยเฉพาะฟังก์ชันที่สำคัญอย่างรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและช่วยลดการระบาดโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี

สำหรับฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายได้ถูกเพิ่มขึ้นบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ในปี 2562 โดยการทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนในประเทศไทยที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน โดยได้การสำรวจลูกน้ำยุงลายไปแล้วมากกว่า 100 ล้านครั้ง

“มิติความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสาธารณสุข วันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่โดยเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งทาง AIS ยังคงยืนยันที่พร้อมจะทำงานกับบุคลากรทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ให้สามารถมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยก้าวเดินต่อไปอย่างดีที่สุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น