xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : e-Wallet ยังหอมหวาน รายใหม่โดดเข้าสู้ชิงฐานลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) กำลังกลายเป็นที่นิยมแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรคบนธนบัตรหรือเหรียญ ด้วยข้อดีคือใช้ได้ตามร้านค้าชั้นนำ ไม่ต้องพกเงินสด รับส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ อีกทั้งปัจจุบันยังเพิ่มขีดความสามารถด้วยการผูกบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต เพื่อใช้จ่ายและหักบัญชีอัตโนมัติ

อี-วอลเล็ตบนมือถือเกิดขึ้นในไทยมานาน แต่ยังมีผู้ใช้ในวงจำกัด กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน เช่น พร้อมเพย์ ถูกพัฒนาขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการภาครัฐ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ช โดยพบว่า เป๋าตัง ธนาคารกรุงไทย 34 ล้านคน ทรูมันนี่ วอลเล็ต 24 ล้านคน แรบบิท ไลน์เพย์ 8.2 ล้านคน ส่วน ช้อปปี้เพย์ เปิดเผยในระดับภูมิภาคมีผู้ใช้งาน 39.3 ล้านคน


ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวม 37 ราย บางรายขับเคลื่อนอี-วอลเล็ตจริงจัง เพราะไม่ใช่แค่ธุรกรรมทางการเงิน แต่ยังได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อต่อยอดสินค้าและบริการที่ตรงใจ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ผลักดัน "ดอลฟิน" ปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 4 ล้านราย จากฐานลูกค้าสมาชิกเดอะวัน 17 ล้านราย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่า แกร็บเพย์ วอลเล็ต ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป เปลี่ยนเป็นให้บริการโดยแกร็บแต่เพียงผู้เดียว ส่วนฝั่งของ พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที ที่มีฐานลูกค้าพีที แม็กซ์ การ์ด กว่า 17.3 ล้านราย ก็กำลังพัฒนาอี-วอลเล็ตเป็นของตัวเองอีกด้วย จึงนับได้ว่าสมรภูมิอี-วอลเล็ตไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง


เดิมการพัฒนาอี-วอลเล็ต จะเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ ผู้ให้บริการพัฒนาเอง อาทิ แอดวานซ์ เอ็มเปย์ ออกผลิตภัณฑ์ mPAY, ทีทูพี ออก DeepPocket, ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ออก Be Wallet, ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น ออก PayforU, สบาย มันนี่ ออก SABUY MONEY ซึ่งที่ผ่านมามีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแล เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์บัตรเงินสดรูปแบบต่างๆ

อีกรูปแบบหนี่งคือการพัฒนาร่วมกัน อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ ยู เทคโนโลยี กรุ๊ป (ประเทศไทย) ออก YouTrip, ร่วมกับโออาร์ออก Blue Connect, ร่วมกับแกร็บ (ประเทศไทย) ออก GrabPay Wallet, ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) ออก TOYOTA WALLET, ทูซีทูพี พลัส (ประเทศไทย) ร่วมกับไปรษณีย์ไทย ออก Wallet@POST เป็นต้น


อี-วอลเล็ตแต่ละแห่งต่างพัฒนาจุดแข็งของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ อาทิ ช้อปปี้เพย์ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ใช้งานบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ แต่ยังร่วมกับธนาคารกรุงเทพ เปิดบริการ PromptPay Sponsor Bank ให้นำเงินที่เติมในกระเป๋าเงิน สแกนพร้อมเพย์ได้ที่เครื่อง EDC, POS หรือคิวอาร์โค้ดจากแอปฯ ธนาคาร อาทิ K PLUS SHOP, แม่มณี, ถุงเงิน ฯลฯ

หรือจะเป็น ทรูมันนี่ วอลเล็ต ที่เปิดตัว ShopReward+ ระบบสมาชิกแบบครบวงจร (CRM) ที่สามารถสมัครและสะสมแต้ม เก็บคูปองฟรี หรือซื้อดีลจากร้านค้า อาทิ ทรูคอฟฟี่โก กาแฟพันธุ์ไทย ทาโก้เบลล์ เบรดทอล์ค โชนัน ทัคคาลบี้ คาซ่าลาแปง มินิโซ อีซี่คัท เป็นต้น ก่อนหน้านี้ก็ร่วมกับพันธมิตรออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากและผลิตภัณฑ์การลงทุน


ส่วนธนาคารกรุงไทย ซึ่งพัฒนาแอปฯ เป๋าตัง สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการภาครัฐ ผ่านบริการ G-Wallet ตั้งแต่โครงการชิมช้อปใช้ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ส่งผลให้มีผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันตั้งให้เป็น Thailand Open Digital Platform ที่เพิ่มบริการทั้งการลงทุน กระเป๋าสุขภาพ และล่าสุดกับการจำหน่ายสลากดิจิทัล 80 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตรายใหญ่ ยังมีการต่อยอดบริการ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น ช้อปปี้ที่มีบริการ SEasyCash สินเชื่อเงินสดเอนกประสงค์ เข้าบัญชีช้อปปี้เพย์ ซึ่งสามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ หรือจะเป็นทรูมันนี่ วอลเล็ต ที่มีบริการ True Pay Next วงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง สำหรับสแกนจ่ายที่ร้านค้ามากกว่า 200,000 จุดชำระเงินทั่วประเทศ


อีกด้านหนึ่ง มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เริ่มจาก แกร็บ (Grab) ส่งอีเมลแจ้งลูกค้าแกร็บเพย์ วอลเล็ต เปลี่ยนผู้ให้บริการโดย บริษัท จีเพย์ เน็ตเวิร์ค (ที) จำกัด แต่เพียงผู้เดียว ผู้ใช้เดิมเพียงกดลิงก์ยืนยันตัวตน ยอดเงินคงเหลือจะถูกโอนมายัง GrabPay Wallet โฉมใหม่โดยอัตโนมัติ เป็นที่คาดหวังว่าจะมีบริการอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่แกร็บมีใบอนุญาตอยู่ในมือแล้ว

ส่วน พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอี-วอลเล็ต สำหรับสมาชิกแมกซ์ การ์ด ในนาม บริษัท แมกซ์ การ์ด จำกัด ที่เชื่อมรวมทุกไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายเข้าไว้ในทีเดียว ด้วยบริการที่หลากหลาย รวมถึงบริการอี-วอลเล็ต จ่ายบิล สั่งสินค้าล่วงหน้า แลกคะแนน Max Point และบริการอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวให้บริการได้เร็วๆ นี้


ขณะที่ เคทีซี พรีเพด บริษัทร่วมทุนระหว่างบัตรกรุงไทย (KTC) 75.05% กับธนาคารกรุงไทย (KTB) 24.95% หนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะยังไม่มีบริการชำระเงินในลักษณะคล้ายอี-วอลเล็ตในเวลานี้ แต่ทั้งสององค์กรกำลังขับเคลื่อนโครงการพอยท์เพย์ โดยแลกรับคะแนน MAAI (มาย) ผ่านร้านค้าถุงเงินกว่า 20,000 แห่งทั่วกรุงเทพฯ 


แม้สมรภูมิอี-วอลเล็ตมีการแข่งขันที่สูง มีผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตรายใหญ่เป็นเจ้าตลาด แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจอี-มันนี่แล้ว พร้อมที่จะเป็นทางเลือกด้วยเครือข่ายร้านค้าเฉพาะกลุ่ม มอบส่วนลด คะแนนสะสม และสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าแก่ลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า นำไปต่อยอดสินค้าและบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ไม่สิ้นสุด

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น