xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางครบรอบ 3 ปี เร่งผลักดัน พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ และ R-map บูรณาการเชื่อมโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมรางครบรอบ 3 ปี เดินหน้าสู่องค์กรกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง ศึกษา R-map บูรณาการโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมเชื่อมโยงทั่วประเทศรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ และเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. ....จัดทำมาตรฐานกลาง

วันนี้ (9 มิ.ย. 63) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางราง ครบรอบ 3 ปี โดยได้รับเกียรติจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานในพิธี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัด คค. ผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งภายในงานมีการจัดพิธีพราหมณ์สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ กรมราง พิธีถวายภัตตาหารเพล (ปิ่นโต) แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล และกิจกรรมร่วมแสดงความยินดีของหน่วยงานต่างๆ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางรางได้ทำหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเสนอแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางของประเทศที่ทำให้ระบบขนส่งทางรางของไทยก้าวหน้า การพัฒนาและกำกับดูแลให้ระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล รวมถึงดำเนินการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศ และภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ขอให้กรมการขนส่งทางรางร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันบูรณาการการทำงานโดยประสานความร่วมมือในการพัฒนาการขนส่งทางรางตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง และทำให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ร่วมกันทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อย่างเต็มกำลังความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชนสืบต่อไป

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางรางมาแล้วกว่า 3 ปี แม้ในปัจจุบันจะมีบุคลากรจำนวนน้อย (ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 90 คน) แต่เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเป็นแรงขับเคลื่อนให้ ขร.ไปสู่องค์กรกำกับดูแลระบบการขนส่งทางราง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ขร.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง รวมถึงมีการจัดทำโครงการศึกษาเพื่อเปิดเส้นทางโครงข่ายระบบรางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายระบบรางระหว่างจังหวัด (โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ R-map) หรือโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลอง การคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2) เพื่อพัฒนาให้ระบบขนส่งทางรางสามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ และสะดวกทุกการใช้งานต่อประชาชน

การพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางรางที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องมีการจัดทำมาตรฐานระบบขนส่งทางรางไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยหรือด้านบริการ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการใช้บริการ ซึ่งถือว่าภารกิจหลักของ ขร. โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ไปแล้วหลายมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่ทาง ขร.เร่งผลักดันอยู่ขณะนี้

นอกจากการจัดทำมาตรฐานระบบขนส่งทางรางแล้วนั้น อีกหนึ่งภารกิจหลักของ ขร. คือการกำกับติดตามการดำเนินงานด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย และเป็นการสร้างความสุขและความปลอดภัยในการเดินทางระบบรางของไทยอย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น