xs
xsm
sm
md
lg

SCGC เสริมแกร่งการเงินพร้อมลุย ตปท. เร่งสรุป 2 บิ๊กโปรเจกต์ที่เวียดนาม-อินโดนีเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านพลังงานและอาหาร บรรดาสินค้าต่างพาเหรดปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า ดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ในทันที กระทบต่อผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2565 มีกำไรลดลงหรือบางรายถึงขั้นขาดทุน

“เอสซีจี เคมิคอลส์” หรือ SCGC บริษัทย่อยที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ถือหุ้น 100% อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ โพลิโอเลฟินส์และพีวีซีมานาน 40 ปี และเป็นบริษัทไทยเพียงบริษัทเดียวที่มีฐานการผลิตในอาเซียนถึง 3 ประเทศทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย คิดเป็นจำนวนประชากรรวมกัน 440 ล้านคน หรือราว 2 ใน 3 ประชากรทั้งหมดในอาเซียน ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบคือ แนฟทา (Naphtha) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ฉุดกำไรในไตรมาส 1/2565 ลดลงเช่นเดียวกับหลายบริษัทในธุรกิจเดียวกัน แต่ SCGC มั่นใจว่าด้วยนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำอย่างต่อเนื่องเพิ่มมูลค่าสินค้า (HVA) ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และการมีฐานการผลิตที่ใกล้กับลูกค้า จะมีส่วนสำคัญช่วยให้บริษัทก้าวข้ามความผันผวนและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา SCGC มีอัตราทำกำไรเฉลี่ย 7-10%

SCGC เตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางการเงินสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจในการก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคนี้ โดยบริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565

ทั้งนี้ SCGC มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 10 บาท (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดย SCC ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีอำนาจควบคุม SCGC ในสถานะบริษัทย่อยของ SCC เช่นเดิม

บริษัทจะจัดสรรหุ้น IPO ด้วยวิธีแบบ Small Lot First เหมือนกับการจัดสรรหุ้น IPO ของ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เพื่อกระจายให้นักลงทุนที่สนใจอย่างทั่วถึง


ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) กล่าวว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ของ SCGC นำไปใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการขยายกำลังการผลิตและการพัฒนาศักยภาพของ SCGC รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่บริษัทแม่ และสถาบันการเงิน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทำให้ฐานะการเงินบริษัทมีความเข้มแข็งพร้อมลงทุนโครงการต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals ระยะที่ 2 (LSP2) ในประเทศเวียดนาม ที่บริษัทวางแผนขยายการลงทุนหลังจากโครงการ LSP ระยะที่ 1 (LSP) แล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566

บริษัทยังกำหนดเป้าหมายขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GREEN POLYMER) เป็นปีละ 1 ล้านตันภายในปี 2573 รวมทั้งเร่งพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ การแพทย์และสุขภาพ และโซลูชันด้านพลังงาน


โดยให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งงบสำหรับวิจัยและพัฒนา (R&D) ไว้ที่ 1% ของยอดขาย หรือราวปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท รวมทั้งในปลายปี 2562 มีการลงทุนจัดตั้งศูนย์ i2P ที่จังหวัดระยอง หรือศูนย์รวมไอเดียเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งลูกค้า ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อการคิดค้น การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับลูกค้า โดยลงทุนเครื่องจักรสำหรับขึ้นรูปสินค้าได้หลากหลายที่ใกล้เคียงของลูกค้าเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการตลาด พร้อมด้วยห้องแล็บสำหรับใช้ทดสอบคุณภาพของสินค้าอย่างครบวงจร ทำให้กระบวนการพัฒนาสินค้าดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันทำ R&D รวมทั้งการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพ ทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ในมือที่พร้อมจะออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

SCGC ได้ตั้งโรงงานทดสอบการผลิต Recycled Feedstock เป็นเทคโนโลยีล้ำในการใช้พลาสติกที่ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้นนำกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) แห่งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปีช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างยั่งยืน

โครงการดังกล่าว SCGC ได้ร่วมมือกับ Partner ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล และจัดตั้งบริษัท Circular Plas Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี หรือ Chemical Recycling นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะนำเอทานอลมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกด้วย สอดรับเป้าหมายการรุกธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่โลกมุ่งสู่การใช้ Green Polymers


SCGC กำไรไตรมาส 1/65 ลดฮวบ

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 SCGC มีรายได้จากการขาย 69,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ลดลง 32% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 5,902 ล้านบาท เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสำหรับงวดอยู่ทึ่ 3,588 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้อุปทานมีจำกัด ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานดีกว่าปกติ

ในไตรมาส 1/2565 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบคือแนฟทา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 132 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือเพิ่มขึ้น 18% มาอยู่ที่ 877 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติก HDPE ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน 6% มาอยู่ที่ 1,330 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาเฉลี่ย PP เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 1,356 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ส่วนต่างราคา (สเปรด) เฉลี่ย HDPE-แนฟทาลดลง จากไตรมาสก่อน 11% มาอยู่ที่ 453 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนสเปรด PP-แนฟทาลดลง 15% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 479 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน

แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2565 นั้น บริษัทยังมีความท้าทายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน มาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เต็มที่เนื่องจากสภาพตลาดยังไม่เอื้ออำนวย อาทิ การล็อกดาวน์ในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจในปี 2566 มีผลประกอบการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการ LSP ที่เวียดนามเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปัจจุบัน SCGC มีกำลังผลิต 6.9 ล้านตัน/ปี ซึ่งโครงการ LSP มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Flexible Cracker) สามารถเลือกใช้ก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบได้ถึง 70% ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทได้มีการทำสัญญาระยะยาวในการจัดหาวัตถุดิบจาก "การ์ตา ปิโตรเลียม" อดีตพาร์ตเนอร์ที่ถอนตัวจากการลงทุนโครงการ LSP นั่นเอง

ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP มีมูลค่าการลงทุน 1.6-1.7 แสนล้านบาท มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์และโพลิโอเลฟินส์รวม 2.9 ล้านตัน/ปี ส่งผลให้ SCGC มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 ล้านตัน/ปี (ไม่รวมกำลังการผลิตจากโครงการปิโตรเคมีของ Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซียที่ SCGC ถือหุ้น 30%)

อย่างไรก็ตาม โครงการ LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของเวียดนาม แม้ว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เต็มกำลังผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศเวียดนาม ยังต้องนำเข้าปิโตรเคมีราว 70% ของความต้องการใช้รวม จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการลงทุนโครงการ LSP2 ซึ่งบริษัทคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเทียบเรือ ถังเก็บผลิตภัณฑ์และระบบสาธารณูปโภคล่วงหน้าไว้แล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง นับเป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่จะเข้ามาลงทุนที่เวียดนามในอนาคต


ลุ้นเวียดนามบรรจุโครงการ LSP 2 ใน Master Plan

มงคล เฮงโรจนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ และรองผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจโอเลฟินส์ ประเทศไทย บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนขยายการลงทุนโครงการ LSP2 เบื้องต้นขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าหรือใกล้เคียงโครงการ LSP เนื่องจากเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นขนาดโครงการเอทิลีน แครกเกอร์ที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน/ปี ใหญ่กว่าโครงการแรก ส่วนเงินลงทุนโครงการ LSP2 ยังไม่มีข้อสรุป ขึ้นอยู่กับปิโตรเคมีปลายน้ำ (Downstream) จะมีผลิตภัณฑ์ชนิดใดบ้าง

ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุน SCGC ยังไม่ได้ตัดสินใจหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการ LSP 2 เพราะช่วงนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคัดเลือกเทคโนโลยี และสรุปผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย มีความจำเป็นต้องพึ่งพาพาร์ตเนอร์หรือไม่ ซึ่งการหาพาร์ตเนอร์ร่วมทุนจะต้องสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับรายใดไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) หรือแม้แต่ “ดาว เคมิคอล ประเทศไทย” ที่เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทุนหลายโครงการในประเทศไทยก็ตาม

บริษัทมุ่งหวังให้โครงการ LSP2 ถูกบรรจุอยู่ใน Master Plan ของประเทศเวียดนามก่อน เบื้องต้นคาดว่าเวียดนามจะประกาศ Master Plan ฉบับใหม่ในปี 2565 เนื่องจากเวียดนามจำเป็นต้องมีโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ใหม่เพิ่มรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะลำพังโครงการ LSP ทดแทนการนำเข้าปิโตรเคมีได้เพียง 30% ของความต้องการใช้ทั้งหมดในเวียดนาม

ส่วนการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย SCGC ถือหุ้น 30.57% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ในอินโดนีเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการการศึกษาและตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีของ CAP2 คาดว่าจะ FID ได้ภายในปลายปี 2565 โดย SCGC จะลงทุนเพิ่มอีก 107 ล้านเหรียญสหรัฐ หากโครงการ CAP2 ได้รับการอนุมัติ

บริษัทตัดสินใจลงทุนใน CAP ตั้งแต่ปี 2554 เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจปิโตรเคมีไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง

การตัดสินใจนำ SCGC เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมเพื่อรองรับแผนการใช้เงินจำนวนมากเพื่อขยายการลงทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย ล่าสุด SCGC ประสบความสำเร็จจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี ให้แก่ประชาชนทั่วไป มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อศักยภาพบริษัทด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น