xs
xsm
sm
md
lg

“แอร์บัส” มั่นใจตลาดการบินของไทยและเอเชียแปซิฟิกฟื้นเร็วและแข็งแกร่ง ปักธงขยายธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์-เฮลิคอปเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"แอร์บัส” มั่นใจการบินของไทยฟื้นตัวเร็วหลังรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดเดินทาง เชื่อมั่นเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นเร็วและแข็งแกร่งที่สุด ภายใน 20 ปีต้องการเครื่องบินอย่างน้อย 1.7 หมื่นลำ เผยมีคำสั่งผลิต 7 พันลำ ส่งมอบรอบ 4 เดือนแล้ว 190 ลำ ปักธงขยายตลาดเฮลิคอปเตอร์-เครื่องบินทหาร

นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินป้องกันทางอากาศและอวกาศ และเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัส โดยเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัสเป็นกำลังสำคัญของฝูงบินของสายการบินในประเทศไทย และมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเครื่องบินแอร์บัสประจำฝูงบินของสายการบินในประเทศไทยทั้งสิ้น 67 ลำ ซึ่งครอบคลุมเครื่องบินเกือบทุกรุ่นของสายการผลิต

โดยมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สและไทยสมายล์ ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินตระกูล เอ320 (A320) ซึ่งเป็นรุ่นที่มอบบริการที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับตลาดการบินภายในประเทศและภูมิภาค และสำหรับเครื่องบินลำตัวกว้าง ขณะที่สายการบินไทยให้บริการด้วย เอ330 (A330) และเอ350 (A350) และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์บริการด้วยเครื่องบิน เอ330นีโอ (A330neo) รุ่นใหม่ล่าสุดที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ประมาณ 25% พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ แอร์บัสมั่นใจว่าการท่องเที่ยวและการเดินทางทางอากาศของประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างแน่นอน จากที่รัฐบาลไทยได้ยกเลิกมาตรการ Test & Go และข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางทางอากาศของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่จะมีการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางทางอากาศจะเริ่มจากภายในประเทศ ไปสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก

รวมไปถึงภาพรวมตลาดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะสามารถฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง โดยเริ่มจากการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางในระดับภูมิภาค ความต้องการของตลาดแถบเอเชียและแปซิฟิกที่ได้ยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางไปแล้วนั้นมีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่ได้เรียกคืนตำแหน่งการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมของโลกและเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ โดยยังคงคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตใน 20 ปีข้างหน้าสูงถึง 5% โดยมีความต้องการเครื่องบินมากกว่า 45% หรือมีความต้องการเครื่องบินอย่างน้อย 17,000 ลำ ของความต้องการเครื่องบินในตลาดการบินทั้งโลก
สำหรับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 นั้น แอร์บัสยังคงทำการผลิตเครื่องบินตามคำสั่งซื้อตามแผนงาน โดยมีการนำส่งมอบเครื่องบินทุกเดือน ไม่มีการชะลอการส่งมอบแต่อย่างใด ซึ่งช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ส่งมอบเครื่องบินไปแล้วจำนวน 190 ลำ และ ณ เดือน เม.ย. 2565 มี Backlog ในมือจำนวน 7,000 ลำ ซึ่งแอร์บัสมีความพร้อมในการผลิตตามคำสั่งซื้อตามตาราง ส่วนการเลื่อนการรับมอบเป็นแผนงานของสายการบินต่างๆ
นายสแตนลีย์กล่าวว่า นอกเหนือจากตลาดเครื่องบินพาณิชย์แล้ว แอร์บัสยังได้เน้นถึงความสำเร็จในตลาดเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินป้องกันทางอากาศในประเทศไทย โดยโดยมีอากาศยานปีกหมุนจำนวน 70 ลำ และเครื่องบินทหารจำนวน 20 ลำที่ประจำการอยู่ โดยฝูงบินปฏิบัติการในภารกิจที่หลากหลาย ได้แก่ ภารกิจขนส่งลำเลียงพล สาธารณประโยชน์ การอพยพฉุกเฉินทางการแพทย์ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ของประเทศไทย มีตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ขนาดเบาเครื่องยนต์เดี่ยวและคู่ ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์บรรทุกหนัก รวมถึงเอช 225 เอ็ม (H225M) เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพอากาศไทย และ เอช145เอ็ม (H145M) เฮลิคอปเตอร์สำหรับขนส่งลำเลียงของกองทัพเรือไทย ในขณะเดียวกัน เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีรุ่น ซี 295 (C295) มีบทบาทสำคัญสำหรับกองทัพบก โดยมีภารกิจตั้งแต่ลำเลียงกำลังพลและสิ่งของไปจนถึงการอพยพทางการแพทย์และการเคลื่อนกำลังทหารพลร่ม ในส่วนของอวกาศ แอร์บัสมีความภูมิใจที่ได้รับเลือกให้สร้างระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ธีออส-2 (THEOS-2) โดยจะแล้วเสร็จและเปิดตัวในช่วงปลายปี 2565 หรือช่วงต้นปี 2566” นายสแตนลีย์กล่าวเสริม

นายสแตนลีย์ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรอันยาวนานระหว่างแอร์บัสกับประเทศไทย รวมถึงการมีสำนักงาน และศูนย์ปฏิบัติการการบินของแอร์บัสในกรุงเทพฯ ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ที่ให้การบำรุงรักษาและพัฒนาฝูงบิน (MRO) ของพลเรือนและทหาร และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ ประเทศลาว และกัมพูชา แอร์บัสถือเป็นผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายเดียวในปัจจุบันที่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแอร์บัสยังมีข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย (TAI) ให้การสนับสนุนฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดของรัฐบาลไทย โดย TAI เป็นผู้รับเหมาหลักและเป็นศูนย์ให้บริการดูแลการขายและการจัดจำหน่ายฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัสทุกลำที่ปฏิบัติการโดยกองทัพและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย

แอร์บัสมีสัญญาหลายฉบับร่วมกับไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย (Triumph Aviation Services Asia) ในด้านการผลิต โดยครอบคลุมในเรื่องการซ่อมแซม ยกเครื่อง และดัดแปลงโครงสร้างเฟรมของเครื่องบิน เอ320 เอ330 และ เอ340 ที่ดำเนินการโดยสายการบินต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของไทรอัมกรุ๊ป ยังได้จัดหาชิ้นส่วนคอมโพสิตสำหรับเครื่องบินรุ่น เอ320 เอ330 และเอ350 โดยชิ้นส่วนที่อยู่ในบริการจะครอบคลุมแผ่นบังคับที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังของปีกทั้งสองข้าง (Flap leading edges) และแฟริ่งส่วนหางแนวตั้ง (Vertical tail plane fairings) ของรุ่นเอ320 ชายขอบปีกหลังส่วนหาง (Trailing plane edge panels) ของรุ่นเอ330 แฟริ่งและแผงขอบหน้าของปีกเครื่องบิน (Fairings and leading-edge panels) และแผ่นบังคับที่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนท้ายของแพนหางแนวดิ่ง (Rudder) ของรุ่นเอ 350

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ก่อให้เกิดการสนับสนุนงานถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 63,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท) ต่อจีดีพีของประเทศ ดังนั้น ตอกย้ำแอร์บัสที่มุ่งมั่นในการได้มีบทบาทในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และหวังว่าการเป็นพันธมิตรของเราจะแข็งแกร่งขึ้นและสามารถให้การสนับสนุนระดับสูงสุดแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มในตลาดการบิน

นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


กำลังโหลดความคิดเห็น